ขอถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

4.2.08

แนะนำบ้าน...นักวิ่ง

1) พลโท ธงชัย ตระสินธุ์ ผู้ชำนาญการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก 357ประธานชมรมวิ่งแข่งขันสวนน้ำบุ่งตาหลั่ว นครราชสีมา ประธานและกรรมการสมาพันธ์ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ http://moosing.exteen.com/ และ http://moosing.spaces.live.com/ ใครเลยจะคิดว่านักวิ่งอาวุโสอย่างท่านนี้จะมีบ้านไอทีเป็นของตัวเอง แวะไปเยี่ยมบ้านท่านเสียก่อน แล้วคุณจะติดใจ เพราะบ้านของท่านเป็นรวมเรื่องราว และทิปน่ารู้สำหรับนักวิ่งไว้มากมายเลยทีเดียว อย่าพลาด... บ้านหลังนี้เชียว

2) บ้าน คนชอบวิ่ง (นพ.สุธี ฮั่นตระกูล) คุณหมออีกท่าน ที่ชื่นชอบการวิ่ง http://gotoknow.org/profile/shantrakul
และนานาสาระที่เป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่ง http://gotoknow.org/blog/jogging

3) บ้านคุณหมอ นพ.สมนึก ตปนียวรวงศ์ (JFK) นอกจากจะเป็นคุณหมอ ยังมีงานอดิเรกต่างๆที่น่าสนใจมากมาย รวมทั้ง " วิ่ง " ด้วยเช่นกัน บ้านคุณหมอ http://www.2jfk.com/

4) บ้าน นายวิมุติ วสะหลาย หนุ่มนักดาราศาสตร์ และงานอดิเรกดูดาว ส่องนก http://www.naiwimut.org/ หลังนี้เป็นเรื่องราวเบื้องลึกส่วนตัวของเขาเองส่วนอีกหลัง ใหญ่ไม่แพ้บ้านแรก http://www.verdantplanet.org/ ชื่อบ้าน "โลกสีเขียว" เป็นแหล่งรวมนานาสารพัดสัตว์ ที่หลายๆคนอาจไม่เคยได้เห็นหรือรู้จักมาก่อนลองแวะไปดู ไปชม กันได้ ค่าเข้าชมฟรี...

5) บ้านคุณราเชน สามหล้า (ชินจัง) นักวิ่งสังกัดชมรมไทยมาราธอนนอกจากจะเป็นนักวิ่ง ยังใช้เวลาว่างส่วนใหญ่อ่านหนังสือบ้านเล็กของนักวิ่งท่านนี้ จึงมีเรื่องราวต่างๆมากมายที่เกี่ยวกับหนังสือเล่าสู่กันฟัง http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rsamlha (http://www.rsamlha.bloggang.com/)

6) บ้าน นายโคโกโร่ http://kogoro9.multiply.com/ เป็นบ้านหลังเล็กบันทึกเรื่องราวส่วนตัวที่กล้าเปิดเผยและความทรงจำบนสนามวิ่งต่างๆ แวะไปอ่านกันได้นะครับ

7) บ้าน คุณเจียระนัย แสงอุทัย- เจอรี่ สังกัดไทยมาราธอน และชมรมวิ่งระยองเป็นนักวิ่งสาวที่มีบ้านเป็นของตัวเองเหมือนกัน และ ไม่ใช่แค่หลังเดียวเท่านั้นนะhttp://jerryjane.multiply.com/ อีกหลัง http://jerrysang.spaces.live.com/ ลองแวะไปเยี่ยม และ ทักทายพูดคุยกับเธอได้

8) บ้านนักวิ่งสาวอีกหลัง ที่มีนามว่า ป้าสมใจ นักวิ่งไทยในต่างแดน อยากรู้ว่า ป้าสมใจ เป็นใคร ต้องแวะไปชม http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=thanatorn (http://www.thanatorn.bloggang.com/)

Labels:

ไอทีโซน-''ชิพเวลา''กันนักวิ่งมาราธอนโกง

โดย คม ชัด ลึก วัน จันทร์ ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 02:18 น.

การแข่งขันวิ่งมาราธอนนอกจากต้องมีนักกีฬาและกรรมการแล้ว ยังต้องมีเครื่องจับเวลาที่ใช้กับกีฬาประเภทนี้โดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมาต้องพึ่งพาเทคโนโลยีนำเข้า นักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม.ขอนแก่น จึงพัฒนาชิพจับเวลาติดบนเสื้อ ช่วยให้ตัดสินแพ้-ชนะได้อย่างโปร่งใส

นายกรวิษณ์จั่นทอง นักศึกษาปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า ชิพจับเวลาดังกล่าวเป็นชิพอาร์เอฟไอดี ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายป้ายชื่อ แต่หุ้มซิลิโคนเพื่อป้องกันน้ำ หรือเหงื่อ ส่วนวิธีใช้งานก็เพียงกลัดไว้บนเสื้อ หรือกางเกงของนักกีฬา แต่ในอนาคตจะออกแบบเป็นสายรัดข้อมือ เอาใจนักกีฬาที่ชอบถอดเสื้อวิ่ง

จากการทดลองใช้งานป้ายจับเวลาในนักวิ่ง50 คน โดยแบ่งเป็น 5 แถวหน้ากระดาน แถวละ 10 คน และให้ออกวิ่งจำลองเหตุการณ์ พบว่า ป้ายอ่านเวลาสามารถอ่านข้อมูลได้ 46 คน หรือคิดเป็นค่าความคลาดเคลื่อน 8% นอกจากตัวชิพอาร์เอฟไอดีที่อยู่ในรูปป้ายชื่อแล้วที่จุดสตาร์ท จุดเช็กพ้อยช์และเส้นชัย จะต้องติดตั้งเครื่องอ่านสัญญาณและเสาอากาศ ซึ่งทำหน้าที่ส่งคลื่นสัญญาณวิทยุความถี่สูง โดยเครื่องอ่านจะอ่านรหัสนักวิ่งจากป้ายและบันทึกข้อมูลเวลาที่นักวิ่งผ่าน ณ จุดนั้น แล้วส่งไปยังชุดคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะประมวลผลว่านักวิ่งหมายเลขนั้นออกสตาร์ทเวลาเท่าไร ไปถึงจุดเช็กพ้อยช์และเข้าเส้นชัยในเวลาเท่าไร
ระบบจับเวลาจะช่วยป้องกันการโกงขณะแข่งขันสำหรับผู้ที่ไม่ยอมวิ่งไปยังจุดที่กรรมการกำหนด โดยข้อมูลจะฟ้องผ่านเครื่องอ่าน ทำให้ทราบว่าผู้แข่งขันผ่านจุดนั้นๆ มาแล้วหรือไม่ หรือวิ่งออกนอกเส้นทางเพื่อให้ถึงเส้นชัยเร็วขึ้น เป็นต้น นายกรวิษณ์ กล่าว

นายพันธาวุฒิ ภูครองจิต เพื่อนร่วมทีมพัฒนากล่าวว่า เครื่องจับเวลาของกีฬาวิ่งมาราธอนดังกล่าวใช้ทุนวิจัยประมาณ 7.5 แสนบาท ในการจัดซื้อเครื่องอ่าน 3 เครื่อง เสาอากาศ 20 เสา และป้ายอัจฉริยะ 1 หมื่นชิ้น ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผศ.ดร.ดารณี หอมดี อาจารย์ประจำภาควิชา เป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย คาดว่าประมาณปี 2553 จะเป็นสินค้าออกสู่ตลาดได้


คำถามของผม:
ชิพจะกันนักวิ่งโกงได้จริงหรือ
และคาดว่าประมาณปี 2553 จะมีชิพจับเวลาโดยฝีมือคนไทยผลิตออกสู่ตลาด โดย มข.
แล้วสถาบันอื่นหายไปไหนเสียล่ะ รพ.สิชล, มอ., มทร ฯลฯ

Labels:

8.1.08

ระยะทางจากกรุงเทพ ถึง แต่ละจังหวัด

กรุงเทพ-กระบี่ 814 กม. กรุงเทพ-กาญจนบุรี 128 กม. กรุงเทพ-กาฬสินธุ์ 519 กม.
กรุงเทพ-กำเเพงเพชร 358 กม. กรุงเทพ-ขอนเเก่น 449 กม.
กรุงเทพ-จันทรบุรี 245 กม. กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา 82 กม.
กรุงเทพ-ชลบุรี 81 กม. กรุงเทพ-ชัยนาท 194 กม. กรุงเทพ-ชัยภูมิ 342 กม.
กรุงเทพ-ชุมพร 463 กม. กรุงเทพ-เชียงราย 785 กม. กรุงเทพ-เชียงใหม่ 696 กม.
กรุงเทพ-ตรัง 828 กม. กรุงเทพ-ตราด 315 กม. กรุงเทพ-ตาก 426 กม.
กรุงเทพ-นครนายก 107 กม. กรุงเทพ-นครปฐม 56 กม. กรุงเทพ-นครพนม 740 กม.
กรุงเทพ-นครราชสีมา 259 กม. กรุงเทพ-นครศรีธรรมราช 780 กม. กรุงเทพ-นครสวรรค์ 240 กม.
กรุงเทพ-นนทบุรี 20 กม. กรุงเทพ-นราธิวาส 1149 กม. กรุงเทพ-น่าน 668 กม.
กรุงเทพ-บุรีรัมย์ 383 กม. กรุงเทพ-ปทุมธานี 46 กม. กรุงเทพ-ประจวบ 281 กม.
กรุงเทพ-ปราจีน 136 กม. กรุงเทพ-ปัตตานี 1055 กม.
กรุงเทพ-พะเยา 691 กม. กรุงเทพ-พังงา 788 กม. กรุงเทพ-พัทลุง 840 กม.
กรุงเทพ-พิจิตร 344 กม. กรุงเทพ-พิษณุโลก 377 กม. กรุงเทพ-เพชรบุรี 123 กม.
กรุงเทพ-เพชรบูรณ์ 346 กม. กรุงเทพ-เเพร่ 551 กม.
กรุงเทพ-ภูเก็ต 862 กม. กรุงเทพ-มหาสารคาม 475 กม. กรุงเทพ-มุกดาหาร 642 กม.
กรุงเทพ-เเม่ฮ่องสอน 924 กม. กรุงเทพ-ยโสธร 531 กม. กรุงเทพ-ยะลา 1084 กม.
กรุงเทพ-ร้อยเอ็ด 512 กม. กรุงเทพ-ระนอง 568 กม. กรุงเทพ-ระยอง 179 กม.
กรุงเทพ-ราชบุรี 100 กม. กรุงเทพ-ลพบุรี 153 กม. กรุงเทพ-ลำปาง 599 กม.
กรุงเทพ-ลำพูน 670 กม. กรุงเทพ-เลย 520 กม.
กรุงเทพ-ศรีสะเกษ 531 กม. กรุงเทพ-สกลนคร 647 กม.
กรุงเทพ-สงขลา 950 กม. กรุงเทพ-สตูล 973 กม.
กรุงเทพ-สมุทรปราการ 29 กม. กรุงเทพ-สมุทรสงคราม 72 กม. กรุงเทพ-สมุทรสาคร 36 กม.
กรุงเทพ-สระเก้ว 237 กม. กรุงเทพ-สระบุรี 107 กม. กรุงเทพ-สิงห์บุรี 142 กม.
กรุงเทพ-สุโขทัย 427 กม. กรุงเทพ-สุพรรณ 100 กม. กรุงเทพ-สุราฎ 644 กม.
กรุงเทพ-สุรินทร์ 426 กม. กรุงเทพ-หนองคาย 615 กม. กรุงเทพ-หนองบังลำภู 577 กม.
กรุงเทพ-อยุธยา 76 กม. กรุงเทพ-อ่างทอง 105 กม. กรุงเทพ-อำนาจเจริญ 585 กม.
กรุงเทพ-อุดร 564 กม. กรุงเทพ-อุตรดิตถ์ 491 กม. กรุงเทพ-อุทัย 219 กม. กรุงเทพ-อุบล 592 กม.

Labels:

8.10.07

ร.ร. บางกอกพัฒนา: Run through History



ชื่องาน: Bangkok Patana School Run Through History
สถานที่ : เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ
วันที่ : 7 ตุลาคม 2550

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการแข่งขันของสนามนี้ ทุกระยะวิ่งในเมืองโบราณ ใช้ประตูเข้า-ออกของเมืองโบราณเป็นจุดปล่อยตัวและเส้นชัย เส้นทางภายในก็เป็นถนนสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมโบราณสถานต่างๆที่รวบรวมจากทั่วประเทศไทย ระยะ 5 กม. วิ่งรอบเดียว ส่วน 10 กม. ผู้จัดให้วิ่ง 2 รอบ มีจุดให้น้ำทุกๆ 1 กม.

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: งานนี้คงต้องบอกว่าเส้นทางสำหรับการวิ่งเพื่อสุขภาพเพอร์เฟคค่ะ แต่จะพลาดก็ตรงที่การรับสมัคร แจกเบอร์ให้กับนักวิ่ง และกรรมการบอกเส้นทาง ที่ไม่ชัดเจน

นักวิ่งโดยส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่สมัครล่วงหน้ากันมาก่อนทั้งนั้น แต่ต้องใช้เวลาในการรับเบอร์ที่นานมาก ไม่ใช่นานพอสมควร ทั้งที่ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเลย งานนี้เจ้าหน้าที่หรือกรรมการส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเสียค่อนข้างมาก ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆที่ให้เด็กได้มีโอกาสมาจัดกิจกรรมเพื่อส่วนรวมและบางคนก็เหมือนกับอาสาสมัครที่ยินดีมาช่วยงาน ถือเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้เรียนรู้มากขึ้นจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ แต่การที่จะให้เด็กๆจัดการกันเองทุกอย่างคงไม่ได้สมบูรณ์และง่ายมากนัก ซึ่งในแต่ละหน้าที่หลักๆควรมีผู้ใหญ่เป็นหลักสักคนหรือสองคนคอยดูแลและรับผิดชอบบ้าง เมื่อยามที่เด็กเค้ามีปัญหาจะได้แก้ไขปัญหาได้เป็นระบบมากขึ้น
งานนี้ดูจะมีคนรับผิดชอบอยู่คนเดียวหรือเปล่าไม่แน่ใจ เพราะนักวิ่งมีปัญหาเรื่องการรับเบอร์อะไร เด็กๆก็จะบอกให้ไปหาคุณไซมอน นักวิ่งที่มีปัญหานับร้อยคนเดินไปหาคุณไซมอน อะไรก็คุณไซมอน สุดท้ายแล้วคุณไซมอนก็มีแค่ 2 มือจะมีปัญญาอะไรมาแก้ไขให้นักวิ่งนับร้อย แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาก็เลยกลายเป็นปัญหางูกินหางเข้าไปอีก
เจ้าหน้าที่และกรรมการส่วนใหญ่คงจะไม่มีประสบการณ์การจัดงานวิ่งมากนัก แต่ก็ควรจะมีข้อมูลพื้นฐานหรือเข้าใจกฎกติกาพื้นฐานร่วมกัน อาทิ เบอร์วิ่งสีไหนระยะอะไร ผู้หญิง ผู้ชายสีอะไร หมายเลขที่ติดหน้าอกหมายความว่าอย่างไรเช่นนี้เป็นต้น เพราะตอนที่คุณคิมนักวิ่งสังกัดไทยมาราธอน เจ้าหน้าที่หาเบอร์ไม่พบเลยให้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่อีกท่านนึง แต่ก็รออยู่เป็นนานสองนาน ปรากฎว่าก็ได้เบอร์วิ่งผู้หญิงมาทั้งๆที่คุณคิมเป็นผู้ชาย ผมก็เลยท้วงว่าเนี่ยเบอร์วิ่งผู้หญิงนะ เจ้าหน้าที่กลับตอบอย่างมั่นใจเนี่ยเบอร์ผู้ชาย เฮ้อ... ก็เบอร์อย่างนี้สีนี้อ่ะ ผู้หญิงเค้าติดกันนี่นา... ก็เห็นๆกันอยู่

สุดท้ายอาจจะเป็นการผิดพลาดเรื่องการสื่อสาร... บางครั้งดูเจ้าหน้าที่หรือกรรมการจะไม่ค่อยมั่นใจหรือสันทัดภาษาไทยสักเท่าไหร่ เลยทำให้นักวิ่งบางคน งง งง หรือบางคนจากที่ต้องวิ่ง 2 รอบ กลายเป็นวิ่ง 3 รอบก็มี หากผู้จัดไม่แน่ใจเรื่องการสื่อสารของกรรมการ ก่อนการปล่อยตัวควรแจ้งกฎ กติกา หรือรูปแบบการแข่งขันคร่าวๆที่สำคัญให้นักวิ่งได้รับทราบกันเสียหน่อยก็จะเป็นการดี หรือมีเจ้าหน้าที่ที่สามารถให้คำปรึกษากับนักวิ่งไทยไว้เป็นหลักสักคน

แต่อย่างไรก็ดี แม้จะผิดพลาดในครั้งนี้ ก็ขอให้เป็นบทเรียนและประสบการณ์ให้กับผู้จัดมากยิ่งขึ้น และพัฒนาให้ก้าวไปข้างหน้าให้สมกับชื่อ บางกอกพัฒนา นะคะ


คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
คงไม่มีอะไรมากสำหรับสนามนี้ แม้ว่าค่าสมัครจะแพงไปสักนิดแต่ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศมาวิ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยได้เปิดให้นักวิ่งได้เข้ามาวิ่งกันบ่อยๆมากนัก ซึ่งปกติก็ต้องเสียค่าเข้าชม ก็ถือว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักวิ่ง เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งมีวิ่งกันทั้งทีก็น่าจะใช้โอกาสนี้ให้คุ้ม ทั้งวิ่งทั้งเยี่ยมชมสถานที่ในบริเวณนั้น และเหมาะที่จะมากันเป็นครอบครัวใช้เวลาว่างๆเช้าวันอาทิตย์ออกกำลังกายด้วยกัน

Labels: , ,

25.9.07

เมื่อนักวิ่ง เสียชีวิตในสนามวิ่ง


จะมีใครคิดเหมือนผมบ้างไหม? เหตุการณ์นี้นอกจะเป็นบทเรียนแก่นักวิ่ง มันก็น่าจะเป็นบทเรียนให้ผู้จัดบ้าง

23 กันยายน 2550 รายการแข่งขัน สยามมาราธอน ครั้งที่ 2 ณ สวนสาธารณะหนองจอก กรุงเทพมหานคร
ระยะมาราธอนปล่อยตัว 03.40 น. มาราธอนสนามนี้เมื่อปีที่แล้วติดไปทำงานทางใต้เลยกลับขึ้นมาวิ่งไม่ทัน
ปีนี้ก็เลยมาเก็บซะ ถ้าปีที่แล้วผมมีโอกาสมาวิ่ง ปีนี้ผมคงไม่มาที่แน่เลย

เส้นทางการแข่งขัน แม้จะดูง่ายๆ แต่มันเสี่ยงมากเลย ผมเกือบจะได้แพร่ระบาดเชื้อบ้าให้กับบรรดาเจ้าเขี้ยวงามที่คอยสอดส่องดูแลทรัพย์สินให้ผู้ปกครองของมันเสียแล้ว แต่โชคดีหวุดหวิดรอดมาได้ เป็นเส้นทางที่มีหมาเยอะมาก ไม่เยอะอย่างเดียวเท่านั้นแถมแม่ง... มันดุอีกต่างหาก นอกจากจะต้องหนีหมา ยังต้องมาปะกับความมืดอีก.... ก้าว แต่ละ ก้าว ผม ต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะเสียวหัวจะขมำจับกบแถวนั้น

วันนี้ผมคงต้องบอกว่าเศร้าใจและเสียใจ ที่เพื่อนนักวิ่งดีๆคนหนึ่งต้องจากไป คุณปิยะ วิริยะวณิชย์ และคงต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัว ที่สูญเสียหัวหน้าครอบครัวซึ่งเป็นเสาหลัก น้องปริวัฒน์ และ น้องวรัทยา วิริยะวณิชย์ ที่ต้องสูญเสียคุณพ่อไป และสมากชิกชมรมวิ่งกิ๊กก๊อกจ๊อกกิ้ง ที่ต้องสูญเสียผู้นำที่สมบูรณ์แบบ

คุณปิยะ ร่วมวิ่งงานนี้ด้วยเช่นกัน ปล่อยตัวเวลาตี 3.40 น. นักวิ่งออกไปหมดแล้ว ผมจึงตามออกไปเพราะมัวแต่บันทึกภาพก่อนปล่อยตัว พี่เค้าก็ออกเดินไปเรื่อยๆ ผมยังเอ่ยปากบอกพี่เค้าว่า ไปเรื่อยๆนะครับ บริเวณที่เกิดเหตุ เป็นช่วงระยะ ที่ 9-11 กม.
หากใครได้วิ่งด้วยกัน และหากไม่หลงทางตรงจุดนั้นเสียก่อน จะจำได้ว่า กม. ที่ 9-11 เป็นเส้นทางที่เราเลี้ยวซ้าย ออกจากถนนหลักที่เราวิ่งกัน เข้าไปเส้นทางนั้นจะค่อนข้างมืด และถึงกับมืดสนิทเลยทีเดียว และนักวิ่งระยะนี้ก็ใช่ว่าจะมากนัก ดังนั้นนักวิ่งจะวิ่งห่างกันพอสมควร หากใครเกิดเป็นอะไรขึ้นมาก็เรียกว่ากว่าจะได้เจอกันก็นานทีเดียว นอกจากเส้นทางที่มืด ซึ่งนักวิ่งไม่สามารถมองเห็นเส้นทางได้ชัดเจน หากใครมีปัญหาด้านสายตา บอกได้เลยว่ามองไม่เห็นแน่นอน โชคดีสำหรับผม เพราะพกกล้องติดตัวไปด้วย พอเปิดกล้องก็พอจะมีแสงให้เห็นเส้นทางได้บ้าง แต่สำหรับนักวิ่งทั่วไปจะมีสักกี่คน ที่พกไฟฉาย กล้อง หรือแม้แต่มือถือ ที่พอจะให้แสงได้ล่ะครับ ก็คิดดูละกันก่อนจะเข้ามาวิ่งเส้นทางนี้ มีป้ายบอกให้เลี้ยวซ้าย มีนักวิ่งจำนวนกว่า 10 คนมองไม่เห็นป้ายนี้แล้วก็วิ่งตรงกันไปเลย

นอกจากความมืดของเส้นทางการแข่งขัน อีกอย่างคือ รถปฐมพยาบาลเคลื่อนที่ ที่มีความสำคัญต่อการวิ่งระยะยาวๆ หรือแม้แต่ระยะสั้นก็ตามเหตุการณ์ครั้งหนึ่งของพี่ปั้น คงจำกันได้ ใครจะคิดว่าแม้แต่วิ่งเป็นรอบ ๆ อุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดมันย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ คนเป็นลม ย่อมต้องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในทันทีและต้องการการช่วยเหลือที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที แม้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือ แต่หลังจากนั้นสัก 10 นาที ครึ่งชั่วโมง มันก็สายไปแล้ว...

นักวิ่งหลายๆคน ไม่ได้แข็งแรงร้อยเปอร์เซนต์เสียทุกคนไป หรือแม้แต่บางคนที่แข็งแรงแต่ด้วยความที่อยากเอาชนะ ร่างกายมันก็ย่อมล้า เกิดวิกฤตขึ้นได้เสมอ ดังนั้นนอกจากตัวนักวิ่งเองที่ต้องระวังตัวเอง ในสนามวิ่งผู้จัดเองก็ต้องร่วมรับผิดชอบในส่วนตรงนี้ด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์ในครั้งนี้ ถ้าเป็นคนไทย อาจจะบอกว่า คนเรามันถึงเวลาแล้วที่ต้องไป แต่ผมอยากให้ผู้จัด เห็นเหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนของผู้จัดเสียมากว่า มากกว่าจะปล่อยให้นักวิ่งมาเผชิญชะตากรรมกันเอง อะไรจะเกิดก็แล้วแต่บุญแต่กรรม

ไม่รู้จะพูดยังไงเลย เศร้า... ต่อจากนี้... ผมจะรอดูซิว่า เรื่องนี้จะเป็นยังไงต่อไป

Labels: ,

19.7.07

5 มาราธอน 5 อาทิตย์ติด เรื่องจิ๊บๆ (ตอนจบ)

สนามที่ 5 พัทยามาราธอน (15 ก.ค.50)
ผมแทบไม่อยากจะลุกออกจากที่นอนเลยให้ตายซิ
มันรู้สึกไม่อยากจะวิ่งเลย เพราะรู้สึกว่าวิ่งมา 4 มาราธอนเนี่ยก็เต็มกลืนแล้ว...
แต่ก็ฝืนขึ้นมาอีกแค่สนามเดียวเป้าหมาย 5 มาราธอน 5 อาทิตย์ก็จะจบกันซะที....
พอปล่อยตัวออกไป ผมก็ยังรู้สึกขี้เกียจ
ขามันไม่ค่อยอยากจะก้าว เฮ้อ... ทำไมต้องมาถ่อสังขารอยู่ได้ว้า...
ฝืนวิ่งไปเรื่อยๆอาการค่อยดีขึ้นมาหน่อย
ถึง กม. ที่ 15 ผมเริ่มรู้สึกมีความสุขกับการวิ่งแล้วครับทีนี้
เพราะด้วยอากาศที่ไม่ค่อยร้อน
บวกกับการปิดถนนเส้นสุขุมวิทสำหรับนักวิ่งมาราธอน
มันทำให้ผมรู้สึกว่าผู้จัดเอาใจใส่นักวิ่งมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ
คุณตำรวจและเจ้าหน้าที่ อปพร.พัทยา ให้การสนับสนุนและดูแลนักวิ่งเต็มที่
สนามนี้เป็นสนามที่ผมพูดได้เต็มปากเลยว่าผมเป็นนักวิ่งคนสุดท้าย
และที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าสนามนี้มันโหดและก็ไม่ค่อยจะประทับใจผลงานที่ผ่านมาสักเท่าไหร่
มาวันนี้สนามสุดท้ายเป็นสนามที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจและมีความสุขในการวิ่งที่สุด
เพราะผมได้เห็นแล้วว่าสนามนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น อย่างเห็นได้ชัด
พัทยามาราธอนที่ว่าโหด
คราวนี้ต้องเปลี่ยนใหม่เป็นพัทยามาราธอนที่ใครๆก็วิ่งได้
วันนี้ผมทำเวลาไป 6 ชั่วโมงกว่า แต่ไม่รู้กว่าไปเท่าไหร่...

เฮ้อ จบสิ้นกันซะที 5 มาราธอนของผมจบแล้ว
การแข่งขันทุกอย่างก็จบลง
แต่ที่จะยังคงดำเนินต่อไปก็คือ ชีวิตที่รอดมาได้ของผมเอง

จบ 5 สนามผมรู้สึกมีความสุขและก็ดีใจเป็นที่สุด
ที่ดีใจและมีความสุขไม่ใช่เพราะผมทำได้สำเร็จหรอกนะครับ
เรื่องความสำเร็จ 5 สนามของผมมันเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย
แต่ที่น่าดีใจคือบ้านเรามีสนามมาราธอนให้วิ่งมากขึ้น
เพื่อสุขภาพของคนไทยทุกคน
ยิ่งไปกว่านั้นผมเห็นว่างานวิ่งเกือบทุกงานมีการพัฒนาปรับปรุงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ไม่ว่าจะเป็นมาราธอนทั่วไปสำหรับนักวิ่งไทย
หรือแม้แต่มาราธอนนานาชาติ ก็เป็นที่น่ายินดีกับวงการวิ่งบ้านเรา
และจากประสบการณ์ 5 สนามที่ผ่านมา
ผมต้องขอชื่นชมและยกย่องในความเก่งกล้าสามารถ
ของน้อง ศยามล ผูกมิตร สังกัดชมรมวิ่งทองกวาว
น้องคนนี้เก่งและแกร่งจริงๆ สมกับเป็นนักกีฬาตัวจริง
ได้ที่ 1 ไปครองเกือบทุกสนาม แรงดีไม่มีตก
ไม่รู้ร่างกายถูกสร้างมาด้วยอะไร แต่ที่แน่ๆผมว่าเธอซ้อมมาอย่างดี
ไม่รู้ว่าด้วยสูตรไหนเพราะที่วิ่งๆกันเนี่ยเธอก็วิ่งระยะมาราธอนตลอด
หรือว่าเพราะน้องเค้ายังละอ่อนก็ไม่รู้…
ในฐานะที่เธอเป็นนักวิ่งแข่งขัน ผมยอบรับเลยว่าเธอเก่งมากๆ

แต่ที่ไม่ละอ่อน ก็ป้าสมพิศ ฮิวการ์ดเนอร์ และ
เจ๊ลุ้ย-เสาวลักษณ์ ธรรมรงค์กุล เป็นนักวิ่งอาวุโส 60 ปีขึ้น
ที่เก่ง แกร่งและมีสปิริตของความเป็นนักวิ่งระยะมาราธอนอย่างสมบูรณ์
42 กม. ก็คือ 42 กม. อย่ามาให้ป้าลักไก่เลยลูก หลานเอ้ย...
ใครเค้าไม่รู้ ไม่เป็นไร แต่คนเราก็รู้อยู่แก่ใจตัวเอง...
นี่แหละครับมนุษย์มาราธอนตัวจริง! สุดยอดคนจริง

Labels: ,

11.7.07

5 มาราธอน 5 อาทิตย์ติด เรื่องจิ๊บๆ (ภาคที่ 6)




สุราษฎร์ธานีมาราธอน (8 ก.ค.50) หนังม้วนใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว
ตอนนี้ผมต้องเปลี่ยนไปรับบทใหม่
ต่างจาก 3 ตอนที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง
3 ตอนที่แล้วผมรับบทเป็นพระเอกของเรื่อง
แต่ม้วนนี้ผมเป็นตัวโกงครับ... เริ่มบทผมก็เริ่ม ระราน ท้าแข่งเค้าไปทั่ว...
ครั้งแรกก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะแข่งขันกับใคร
แต่พอมันถูกอัดอั้นมาซะนาน ตั้ง 3 อาทิตย์อ่ะ
และนี่แหละตามนิสัยหรือสันดานหรือมุมมืดของความเป็นมนุษย์
ที่ทุกคนมีแฝงอยู่ภายใน เมื่อรู้ว่าตัวเองมีกำลังมีอำนาจ
ก็พยายามที่จะแสดงมันออกมาเพื่อให้เห็นว่า
ตูอ่ะมีแรง มีกำลัง มีอำนาจ แต่มีปัญญาหรือเปล่าไม่รู้...
ขอให้ได้ใช้กำลังและเอาชนะคนที่อ่อนแอกว่าให้ได้
เพื่อให้คนเค้าเห็นว่า ข้าฯก็มีกำลังนะเฟ้ย...
โชคดีนะเนี่ยที่ผมไม่ได้มีโอกาสเป็นผู้นำประเทศ...
ไม่เช่นนั้น ผมจะใช้กำลังขจัดโจรผู้ร้ายให้หมดสิ้น (หุ หุ ล้อเล่น)

..... ดังนั้น คงไม่ต้องแปลกใจหรอกที่ทำไมสนามนี้
ผมใช้เวลาไปแค่เพียง 4 ชม. 51 นาที ต่างจาก 3 สนามที่ผ่านมา
และคงจะต่างจากสนามสุดท้ายเช่นกัน.....
ผมไม่ต้องเก็บภาพ ผมไม่ต้องถ่ายวิดีโอ
ผมไม่ต้องห่วงใคร ผมสนใจแต่ตัวเอง
ใครไม่เกี่ยวถอยไป ผมวิ่งอย่างที่ผมอยากจะวิ่ง อยากจะเอาชนะ
แต่ท้ายที่สุดแล้วผมก็เข้าสู่เส้นชัยที่เดียวกับนักวิ่งคนอื่นๆ
ส่วนความภาคภูมิใจน่ะเหรอ... ด้วยเวลา 4 ชั่วโมงกว่าๆของผม
ถ้าเปรียบเทียบกับเวลา 7 ชั่วโมงของพี่นัยเนตรซึ่งวิ่งมาราธอนเป็นครั้งแรกในชีวิต
ผมว่าความภาคภูมิใจของพี่เค้ามันเป็นสิ่งน่าภาคภูมิใจกว่าผมหลายเท่าเลย....
วิ่งเสร็จก็เหนื่อย ไม่เหนื่อยธรรมดานะเหนื่อยมากๆ
หน้างิ่วคิ้วขมวด เจ็บก็เจ็บ ใครทักทายก็ไม่อยากพูดด้วยแล้ะ ดีไม่แยกเขี้ยวเข้าใส่...

Labels: ,

5.7.07

มาราธอน 5 อาทิตย์ติด เรื่องจิ๊บๆ (ภาคที่ 5)

มาราธอนที่ 3 ชอนตะวันมาราธอน (1 ก.ค.50)
มาราธอนสนามนี้เป็นสนามที่วิ่งวน 13 รอบ ภายในอุทยานสวรรค์
เป็นสนามที่วิ่งได้ง่าย เส้นทางเรียบไม่มีเนิน ไม่โหด ปลอดภัย อากาศก็ดี ไม่ร้อน
เหมาะสำหรับผู้อยากลองลงมาราธอนครั้งแรกเป็นอย่างยิ่ง
หรือ ใช้เป็นสนามซ้อมใหญ่สำหรับลงพัทยามาราธอนได้เป็นอย่างดี
สำหรับผมถ้าไม่ติดภารกิจตากล้องจำเป็นแล้วล่ะก้อ
สนามนี้น่าจะเป็นสนามที่ผมทำเวลาได้น้อยที่สุด
แต่ในที่สุดผมก็เป็นคนไทยคนสุดท้ายจนได้...
สนามนี้แม้ผมจะใช้เวลาไป 7 ชั่วโมง
แต่เวลาวิ่งก็ไม่เหงาเลยครับ
แม้นักวิ่งจะวิ่งเร็วแค่ไหนก็ยังวิ่งอยู่บนเส้นทางเดียวกัน
วิ่งเร็วมากๆ ก็น้อค-รอบผ่านผมไป
อีกสักพักก็มาน้อค-รอบผมอีกแล้ะ
งานนี้ผมถูกน้อค-รอบเป็นว่าเล่นเลย เรียกว่าเห็นหน้าก้นจนจำได้อ่ะ
งานนี้ผมถูกน้อคจากนักวิ่งเกือบทุกคน
บางคนรอบเดียว บางคนก็ สอง สาม สี่รอบ
แต่ 2 รอบสุดท้ายไม่มีใครมาน้อครอบผมแล้ะ ก็ตอนนั้นแทบไม่เหลือนักวิ่งแล้วนี่ครับ...

ชอนตะวันมาราธอนจบลง คุณนิชิบอก “ผมติดธุระ” เดี๋ยวพัทยาค่อยเจอกันอีกที
บทซุปเปอร์แมนของผมจบแล้วครับ ตอนนี้ผมดีใจเหมือนปลากระดี๋ได้น้ำ... เลยครับ

Labels: ,

2.7.07

มาราธอน 5 อาทิตย์ติด เรื่องจิ๊บๆ (ภาคที่ 4)

วันศุกร์ที่ 29 มิ.ย.ก่อนจะต่อมาราธอนที่ 3 ในวันอาทิตย์นี้
ผมรู้สึกเหนื่อย เพลีย ล้าเหลือเกิน เหมือนจะไม่สบายซะงั้น
ทั้งๆที่เมื่อวานอาการก็ยังดีอยู่ และตั้งใจว่าวันเสาร์นี้
จะลองไปทดสอบสมรรถภาพที่ผ่านการฝึกซ้อมมาเสียหน่อย
หลังจากที่ต้องกล้ำกลืนเดินๆวิ่งๆมาแล้วถึง 2 สนาม
ก็เลยกะว่าจะเอาสัก 30 กิโล ขึ้นเขาสามมุกเนี้ยแหละว้าอัดมันให้สุดๆไปเลย...
ก่อนจะไปเดินๆวิ่งๆต่อ มาราธอนที่ 3 ชอนตะวันมาราธอน...
สุดท้ายผมก็ต้องตัดใจลงแค่ 10 กม.
เพราะดูสังขารตัวเองแล้วก็น่าเป็นห่วง
นอกจากจะวิ่ง 30 กม.แบบทุลักทุเล
วันอาทิตย์ผมอาจจะเดินๆวิ่งๆไม่ครบ 42 แน่เลย

เรื่องเล่าเช้าวันเสาร์...ก่อนมาราธอนที่ 3
พอไปถึงสนามซุปเปอร์มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน (30 มิ.ย.50)
ไม่ทราบเป็นเพราะผลงานการจัดที่ผ่านมา
หรือว่าเพราะมีสนามวิ่งมาราธอนติดกันในช่วงนี้หลายสนาม
เลยทำให้นักวิ่งดูบางตาไปมากๆ
วันนี้ผมตั้งใจมาอัดอย่างเดียวแต่ก็แค่ 10 โลเองนะ
ปล่อยตัวไปได้สักพักเพิ่งวิ่งไปได้สัก 3 กิโลเห็นจะได้
ทั้งลม ทั้งฝน กระหน่ำมาอย่างแรง
ถ้ามีปีกวันนี้ผมคงเหาะปลิวไปกับสายลมที่พัดอย่างบ้าระห่ำแน่ๆ
ตามเส้นทางวิ่งป้ายบอกทางล้มระเนระนาด ปลิวหายไปบ้าง
เจ้าหน้าที่อยู่ไม่ได้แล้ว ก็มีแต่นักวิ่งนั่นแหละที่บ้าวิ่งสู้ลมสู้ฝนอยู่ได้ รวมทั้งตัวผมเองด้วย

ป้ายบางจุดหายไป ผมก็ไม่รู้วิ่งทางไหน
ได้แต่วิ่งตามนักวิ่งเจ้าถิ่น(ชมรมวิ่งตำหนักน้ำ)ไปเรื่อยๆ
เพราะเชื่อว่าเจ้าถิ่นน่าจะรู้ดีกว่าเราแน่นอน...
และในที่สุดก็กลับมาถึงจุดปล่อยตัว-เส้นชัย
ทุกอย่างเปลี๋ยนไป ไม่เหลือร่องรอยเลยว่าเคยเป็นจุดปล่อยตัวเมื่อก่อน 40 นาทีที่แล้ว
เข้าเส้นชัยทุกอย่างดูจะสับสนกันไปหมด เพราะสภาพภูมิอากาศที่ทุกคนไม่ทันได้ตั้งตัว

นอกจากความตั้งใจที่จะมาอัดเต็มที่แล้ว
วันนี้ผมยังต้องรีบวิ่งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพราะไม่อยากให้รองเท้ามันเปียก
พรุ่งนี้ผมต้องใช้มันวิ่งมาราธอนอีก
สรุปแล้ววันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ผมวิ่งแล้วรู้สึกสะใจจริงๆ
ที่ได้วิ่งแข่งอีกครั้งในรอบปี
โดยที่ไม่ได้ถ่ายรูปเลยแม้แต่รูปเดียวระหว่างเส้นทางการวิ่ง...
หลังจากได้ความสะใจเล็กๆที่พอจะเจือจางความข่มขื่นไปได้บ้าง

งานนี้ผมยังได้เห็นน้ำใจความเป็นนักกีฬา
ของเพื่อนนักวิ่งหญิงในรุ่น 30-39 ปีระยะ 10กม.
ผลจากที่ลม และฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก
ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยบอกทาง ไม่มีกรรมการคอยดูแลตัดสิน
ทำให้นักวิ่งบางคนหลงทาง
ดังนั้นนักวิ่งต้องมาตัดสินกันเองในรุ่นว่าใครเข้าก่อนเข้าหลัง
และในรุ่นนี้ผู้ที่เข้ามาที่ 1 เธอวิ่งผิดเส้นทางแต่เธอก็ขอสละสิทธิ์
เพราะรู้ตัวเองว่าวิ่งผิดเส้นทาง
งานนี้แจกถ้วยรางวัล 3 ใบ คนที่เข้าเป็นที่ 2 และ ที่ 3 ไม่มีปัญหาได้ถ้วยแน่นอน
ส่วนคนที่ 4 พี่อ๋อย รามเกียร เมื่อที่ 1 ขอสละสิทธิ์เธอก็มีโอกาสได้ถ้วยไป
แต่ด้วยสปิริตน้ำใจนักกีฬาของพี่อ๋อย
เห็นว่าคนที่เข้าที่ 1 เป็นนักวิ่งน้องใหม่ แล้วสเต็ปการวิ่งก็ดีมาก
ถ้าเธอไม่หลงทางยังไงก็เข้าเป็นที่ 1 อยู่ดี
ที่หลงทางก็เพราะเหตุสุดวิสัยจริงๆไม่ได้ตั้งใจจะลัดเส้นทาง
สุดท้ายพวกเราก็ตัดสินกันเองด้วยสปิริตน้ำใจของนักกีฬา
และโดยเฉพาะพี่อ๋อยที่ยอมเสียสละ และยอมรับในความสามารถของนักวิ่งที่เข้าอันดับ 1

ปกติแล้วถ้าเป็นเส้นทางวิ่งที่มีการย้อนกลับเส้นทางเดิม
หรือนักวิ่งได้มีโอกาสได้วิ่งสวนกัน
ผู้ที่ชื่นชอบกับการสะสมถ้วยรางวัล หรือหวังรางวัลจากการแข่งขัน
ก็จะรู้กันอยู่แล้วว่าใครนำใครอยู่ ใครเข้าก่อน-เข้าหลังตัวเอง
แต่ก็ยังมีนักวิ่งแนวหน้า(หน้าด้าน)บางคนทั้งๆที่รู้ผลและรู้อยู่แก่ใจดี
ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา กรรมการตัดสินผิดพลาดก็ถือเอาเป็นที่ตั้ง
บางคนโกงแม้กระทั่งตัวเอง (โกงเส้นทางก็ว่าร้ายแล้ว โกงอายุยิ่งร้ายกว่าซะอีก)
ไม่รู้เกิดอัลไซเมอร์กะทันหันอะไรขึ้นมาเกิดจำอายุตัวเองไม่ได้
(ต้องรีบพาไปรักษา ไม่งั้นยิ่งวิ่งอาการยิ่งกำเริบ)
นอกจากจะไม่ให้เกียรติคนอื่นยังไม่เคารพตัวเอง
อย่างนี้จะหวังให้ใครมาเคารพมานับถือ
แล้วสิ่งที่ได้มาแบบนี้คงจะภูมิใจเค้าน่าดู... ได้ยิน ได้เห็น แล้วก็น่าสังเวจ อนาจใจนัก

Labels: ,

26.6.07

5 มาราธอน 5 อาทิตย์ เรื่องจิ๊บๆ (ภาค 3)


สนามที่ 2 ลานสกามาราธอน (24 มิ.ย.50) สนามนี้ใช้เส้นทางเดิมเหมือนที่ผ่านมาเช่นกัน
ครั้งนี้เป็นการวิ่งครั้งที่ 3 ทุกครั้งที่ได้มาวิ่ง สัมผัสได้ถึงการปรับปรุงพัฒนาการจัดการแข่งขันของผู้จัด ตลอดมา
มาราธอนสนามนี้ เป็นสนามที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่โดดเด่น
ด้วยความสวยงามของทิวเขาที่ล้อมรอบ และเส้นทางที่วิ่งขึ้นเขาช้างสี
สร้างความท้าทายให้กับนักวิ่งไม่ถึงกับโหดมากนัก
ปล่อยตัวเวลา 04.00 น. ขาไปอาจจะมืดไปสักหน่อยแต่ได้บรรยากาศ
ได้เห็นเห็นดาวบนท้องฟ้าสวยระยิบระยับ
วิ่งขึ้นเขาไม่ค่อยเหนื่อย เพราะยังมองไม่เห็นความชันของเส้นทาง
พอถึงจุดกลับตัวฟ้าก็สว่าง ขาย้อนกลับ นักวิ่งก็ได้เห็นบรรยากาศทิวเขาตามเส้นทางการวิ่ง
น้ำใจของคนในชุมชนที่มีให้กับนักวิ่งเกือบตลอดเส้นทาง

วันนี้ผมโดนป้าสมพิศ อ.สุดยง นักวิ่งอาวุโสที่พยายามออกแรงวิ่งสลับเดิน แซงงงงงง...ไปต่อหน้าต่อตา
ผมและ มร.ฮาจิเมะ นิชิ อยู่ปิดท้ายขบวนนักวิ่งแล้ววันนี้
พยาบาลบนรถถามเราด้วยความหวังดี “ขึ้นรถมั้ยคะ?”
คำถามแบบนี้ถามใครไม่ถาม มาถามต้นโศก
วะเหวย... มันจะดูถูกกันเกินไปหน่อยแล้ว...
แต่จะทำไงได้ล่ะ คุณนิชิบอกว่า “ผมไปได้แค่เรื่อยๆนะ รู้สึกว่าเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณน่องแล้ว... แล้วผมก็จะเข้าเส้นชัยด้วยตัวผมเองให้ได้”
งั้นก็ไม่เป็นไร ผมก็เดินๆวิ่งๆ เป็นเพื่อนคุณ อย่างมากผิวก็สีแทนขึ้นอีกหน่อยแค่นั้นเอง...
และในที่สุดด้วยความเป็นห่วงของทีมงาน
ที่ไม่สามารถบังคับขู่เข็ญ หรือแม้กระทั่งจูงใจเราให้ใช้บริการได้สำเร็จ
เค้าก็คอยขับรถตามหลังเรามาตลอด พร้อมด้วยมอร์เตอร์ไซต์อาสาสมัครอีก สอง สามคัน
ผมละรู้สึกละอายใจจริงๆ ที่ทำให้เขาต้องมารออย่างนี้
(ถ้าผมวิ่งคนเดียวน่ะเหรอ รถพยาบาลก็รถพยาบาลเถอะรับรองตามผมไม่ทันแน่
ไม่ใช่ผมวิ่งเร็วนะครับ ต้องมีคนอื่นช้ากว่าผมแน่ อิ อิ )

เราเป็นนักวิ่งปิดท้ายสำหรับวันนี้ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครที่ในใจคงอยากจะกลับบ้านน่าดูแล้ว
เพราะสตาร์ทตั้งแต่ตีสี่ เนี่ยมันก็เกือบจะได้เวลาฉันเพล
ทุกคนยังยืนยิ้มให้กำลังใจ ให้น้ำเรา ยังรอพวกเราอยู่ทุกจุดให้น้ำที่เราผ่านไปเมื่อเช้านี้
คำพูดเชิญชวนปีหน้ามาใหม่นะ บวกกับรอยยิ้มของทุกๆคนมันทำให้เรารู้สึกดีขึ้น สบายใจขึ้นมากเลย
ไม่เหมือนงานวิ่งบางงานที่แม้จะไม่ใช่นักวิ่งคนสุดท้ายแต่ก็ต้องมาพบมาเจอกับความว่างเปล่า
โต๊ะเปล่าๆ แก้วเปล่าๆที่ถูกทิ้งไว้ให้เห็นร่องรอยว่าก่อนหน้านี้ว่า
มีนักวิ่งผ่านมาทางนี้แล้วนับร้อย... หรือนับพัน หรือคำพูดบางคำที่ทิ่มแทงใจยิ่งนัก

ผมไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดให้น้ำสิ่งที่ผมต้องกระทำคือ
ยกมือทั้งสองขึ้นไหว้งามๆพร้อมกับยิ้มหวานๆที่หวังว่าพอจะช่วยบรรเทาความบันดาลโทสะ
ที่ปล่อยให้ตรูรออยู่ได้ พร้อมกล่าวคำว่า ขอบคุณมากๆนะคะที่ยังรอเราอยู่
เมื่อผ่านแต่ละจุดทุกสิ่งถูกเก็บขึ้นรถตามเราไป
ได้เวลา 07.09 เราก็เข้าสู่เส้นชัย พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเราแม้จะโหลงเหลงไปบ้าง....
ไม่เหมือนเวลาเข้าเส้นชัยตอน 4 หรือ 5 ชม.เลย ที่ยังพอมีเสียงเชียร์แว่วๆอยู่บ้าง
บางทีก็มีนักวิ่งวุ่นสาละวนกับการรับถ้วยรางวัลให้เราแอบอิจฉาบ้างเล็กน้อย...

Labels: ,

19.6.07

5 มาราธอน 5 อาทิตย์ติด เรื่องจิ๊บๆ (ภาค 2)

สนามที่ 1 ลากูน่าภูเก็ตมาราธอน (17 มิ.ย.50) มาราธอนสนามแรกได้เริ่มต้นแล้ว
เส้นทางเดิมเหมือนปีที่แล้วที่ผ่านมา แม้จะปรับการวิ่งตรงบริเวณกลับตัวนิดหน่อย
แต่ก็เป็นเส้นทางเดิมล้วนๆ จากจุดสตาร์ทบริเวณลากูน่า ปล่อยตัวนักวิ่งระยะมาราธอนเวลา 05.00 น.
นักวิ่งวันนี้น่าจะเป็นนักวิ่งต่างชาติเกินกว่าครึ่ง บรรยากาศเดิมๆที่ไม่ค่อยต่างไปจากปีที่แล้วมากนัก
วันนี้นอกจากผมจะมาวิ่งๆเดินๆให้ครบ 42.195 กม. ผมยังต้องทำหน้าที่ช่างภาพส่วนตัวให้เพื่อนผม ทั้งถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ตลอดเส้นทางการแข่งขัน
เมื่อก่อนเคยเห็นพี่เขียวจังวิ่งไปถ่ายวิดีโอไป ผมคิดว่ามันคงง่ายๆเหมือนกับวิ่งไปถ่ายรูปไปแน่เลย
แต่เอาเข้าจริงๆที่ไหนได้มันไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย นอกจากจะต้องหยุดนิ่งเพื่อจับภาพเป็นนานสองนาน
มือยังต้องปรับซูมภาพให้นิ่งอีกด้วยซึ่งต้องใช้เวลามากกว่าการถ่ายรูปตั้งเยอะ

แค่วิ่งๆเดินๆก็เหนื่อยเหมือนกันนะ พอกิโลที่ 30 กว่าๆ เริ่มมีการ Request ขอมุมต่ำๆ
แล้วคิดดูเอาเถอะวิ่งมา 30 กว่าโลแล้วอ่ะ มันเมื่อยแข้งเมื่อยขาแค่ไหนแล้วต้องมาก้มๆเงยๆ ตะคริวมันจะกินเอา เค้าเห็นผมเป็นซุปเปอร์แมนรึไงไม่ทราบ...
แต่ดีที่วันนี้ฝนตกลงมาทำให้ไม่ร้อนมากนัก บวกกับร่างกายเต็มร้อย ก็เลยยังพอถูๆไถๆไปได้เรื่อยๆ จนเข้าสู่เส้นชัย 07.09 ชม. แม้จะใช้เวลาไปมากพอดูแต่ก็ยังมีนักวิ่งตามหลังเรามาอีก 4-5 คน

Labels: ,

18.6.07

5 มาราธอน 5 อาทิตย์ติด เรื่องจิ๊บๆ (ภาค 1)



4 มาราธอน 4 อาทิตย์ ก็ทำมาแล้ว...นับประสาอะไรเพิ่มมาอีกแค่สนามเดียว
5 มาราธอน 5 อาทิตย์ติด เรื่องจิ๊บๆอย่างที่พี่แยมเคยว่าละครับ
แค่วิ่งอย่างเดียวมันจะง่ายเกินไปละมั้ง ก็เลยตั้งเป้าเอาไว้ว่า
ทั้ง 5 สนามจะต้องทำเวลาให้น้อยกว่าที่ผ่านๆมาซะหน่อยเพราะเกือบทุกสนามผมผ่านมันมาแทบหมดแล้ว... แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาซ้อมเพื่อรอเวลาพิสูจน์ตัวเอง...

ไม่คิดจะลงแข่ง แย่งความเป็นหนึ่ง ไม่ดึงดันกับใคร
สุดท้ายก็แค่เหนื่อย และไม่มีใครได้อะไร
สิ่งเดียวที่คิดจะแข่งขัน นั่นคือตัวของเรา
อาจจะเคยดีแล้วในวันเก่า แต่มันยังไม่พอ…

ตั้งหน้าตั้งตาซ้อมบ่อยขึ้นมาหน่อย...
จนบรรดาหนุ่มทหารเรือเริ่มจะคุ้นๆแล้วว่าแถวนี้มีสาวน่ารักผิวคล้ำหน่อยจะออกมาวิ่งตอนเย็นๆบ้างในบางวัน
บางวันก็วิ่งสวนกับบรรดาหนุ่มๆพลทหาร หรือจ่านักเรียนนายเรือ ที่ออกมาวิ่งกันเป็นขบวนให้เพลินดีเหมือนกัน...
เฮ้อ... ดูท่าว่า จบ 5 สนามนี้แล้ว สงสัยจะต้องออกมาซ้อมต่อซะแล้ว...

ในอีกไม่กี่วัน ก่อนสนามแรกจะเริ่มขึ้น เมลล์ฉบับหนึ่งได้ถูกเปิดอ่าน...
ผมจะไปวิ่งมาราธอนในเมืองไทย อยากให้คุณช่วยเป็นช่างภาพส่วนตัวให้หน่อยนะ ทั้งในงานแถลงข่าวและในสนามวิ่ง ผมอยากจะได้รูปเอาไปใช้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ Ecomarathon: มาราธอนไม่ใช่เพียงเพื่อการแข่งขันแต่เป็นมาราธอนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environment) มนุษยชาติ (Humanity) และ สันติภาพ ความสงบสุข (Peace) ตามทัศนคติและมุมมองของผม- ฮาจิเมะ นิชิ
http://www.healthcorners.com/2007/article/showArticle.php?category=runinterview&id=733
http://www.ecomarathon.org

อ่านจบ... ความหวังของผม มลายไปสิ้น... เศร้าเลยเรา

เรื่องทำเวลาให้น้อยลงคงไม่ต้องคิดถึงอีกต่อไปแล้ว
ด้วยความที่สนิท รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ผมเลยไม่กล้าที่จะปฏิเสธออกไป
อีกนัยหนึ่งผมเองก็ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม สนใจด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
และก็เห็นว่าแนวความคิดและทัศนคติในการวิ่งของเขาก็ดูจะเข้าท่าดีทีเดียว... ก็เลยตกลงที่จะช่วย...

เก็บเอาความผิดหวังไว้ลึกๆภายใน แม้จะต้องผิดหวังบ้างในบางครา ผมก็หวังจะได้เรียนรู้อะไรเสมอ
ชีวิตกับการวิ่งของผมไม่ได้จบแค่เพียงมาราธอน 5 สนามนี้เท่านั้น... ผมยอมก้มหน้ารับชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไป... จากความว่างเปล่า ที่ไม่มีการแข่งขันกับใครโดยสิ้นเชิงหรือแม้กระทั่งตัวเอง... ผมจะได้พบอะไร

Labels: ,

2.2.07

หัวข้อการประเมิน สนามวิ่งมาราธอนนานาชาติ (International Marathon)

สำหรับมาราธอนนานาชาติ ซึ่งได้แก่ สนามที่ใช้ชื่อ นานาชาติ และสนามที่มีศักยภาพสูง อาทิ ขอนแก่นมาราธอนนานาชาติ, ฐานบินกำแพงแสนนานาชาติมาราธอน, ไอเอ็นจี วัฒนธรรมไทย, ภูเก็ตนานาชาติมาราธอน, พัทยามาราธอน, สงขลานานาชาติมาราธอน, ภูเก็ตภูเขา-หาดทรายนานาชาติมาราธอน, กรุงเทพมาราธอน และ วิ่งมหาสมุทรสู่มหาสมุทร

1. สถานที่การจัดการแข่งขันและเส้นทางการวิ่ง
• บรรยากาศของสถานที่แข่งขันและเส้นทางการวิ่ง(Air, View, Space for comfortable-paced running, Sign and Stage)
• ลักษณะของเส้นทางการวิ่ง (Type of course, flat or hilly)
• ป้ายบอกทางและระยะทาง (Course markings and distance markers)
• การมีส่วนร่วมของชุมชน(Cooperation of the community and spectator support)
• จุดให้น้ำ (Number of water station)
• ห้องน้ำ(Toilet at the start area and along the course)
• ถังขยะ และการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมของผู้จัด(Trash cans and environmental concerned)
• บริการนวดระหว่างและหลังการแข่งขัน (Massage service)

2. การจัดการเพื่อความปลอดภัยของนักวิ่ง
• รถพยาบาล และการปฐมพยาบาล (First-aids and/or ambulance)
• การปิดถนน หรือ การควบคุมจราจร(Traffic control)

3. การรับสมัคร การบริการจุดฝากของ
• ความสะดวกในการรับสมัคร รายงานตัว (Comfortable to register)
• การรับฝากของ (Baggage Deposit service)

4. การช่วยเหลือ สื่อสาร ประสานงาน การจัดงานในระดับสากล และการนำเสนอความเป็นไทยในระดับสากล
• การติดต่อ สื่อสาร ประสานงาน ด้วยภาษาสากล (Well communication and response foreign runner)
• การนำเสนอภาพลักษณ์ความเป็นไทย(Thai cultural show)
• การให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับนักวิ่งต่างชาติที่เข้าร่วมการแข่งขัน (Course inspection or free excursion and/or course map with the elevation profile)

5. วัตถุประสงค์และความเหมาะสมของค่าสมัคร
• วัตถุประสงค์และค่าสมัครที่สมเหตุสมผล (Suitable and reasonable entry fee)
• มีค่าสมัครสำหรับนักเรียนหรือเยาวชน เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนมาออกกำลังกายมากขึ้น (Encourage and inspire youth to join)

6. อาหารและเครื่องดื่มสำหรับการแข่งขัน
• ปริมาณ (Quantity)
• คุณภาพ (Quality)
• เกลือแร่ และผลไม้(Fluids, mineral, sport drink and fruits at water stations)

7. ความสะดวกในการเดินทาง หรือที่จอดรถและความปลอดภัยในทรัพย์สินของนักวิ่ง
• ความสะดวกในการเดินทาง ที่จอดรถ หรือ รถบริการรับ-ส่งนักวิ่ง และที่พัก (Transportation, parking and accommodation)
• ความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้ร่วมการแข่งขัน (Security)

8. การประสานงาน ประชาสัมพันธ์ และให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารแก่นักวิ่ง
• การให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆแก่นักวิ่ง(Provide other related information)
• การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ในระยะเวลาที่เหมาะสม (Public relation)

9. สิ่งที่บ่งชี้ความสำเร็จของนักวิ่งมาราธอน
• ประกาศนียบัตร (Finisher certificate)
• เสื้อผู้สำเร็จ (Finisher t-shirt)
• ผลการแข่งขันอย่างเป็นทางการ (Event result)
• ภาพถ่ายระหว่างการแข่งขัน หรือขณะเข้าสู่เส้นชย (Proof photos on the course and/or at finish line to purchase)

10. ความเท่าเทียมและเปิดโอกาสให้นักวิ่งได้มีโอกาสประสบความสำเร็จสักครั้งในการวิ่งมาราธอน
• การแบ่งชุดการปล่อยตัวสำหรับนักวิ่งที่วิ่งช้า (Early start for slow runner or jogger)
• การดูแลนักวิ่งนักวิ่งคนสุดท้าย ซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่กำหนด (Waiting for until last runner with qualified time)

11. คุณภาพและความสวยงามของเหรียญที่ระลึก หรือถ้วยรางวัล หรือของที่ระลึกต่างๆ
(Design, material and quality of medal, trophy, t-shirt and etc.)

Remark: 2nd edition 2007

Labels: ,

หัวข้อการประเมิน สนามวิ่งมาราธอนทั่วไป (Local Marathon)

สำหรับสนามมาราธอนทั่วๆไปซึ่งได้แก่ จอมบึงมาราธอน, ม.ราชภัฎเพชรบุรีมาราธอน, สิชลมาราธอน, สงกรานต์มาราธอน, หนองคายมาราธอน, เขื่อนคลองท่าด่านมาราธอน, ลานสกามาราธอน, ชอนตะวันมาราธอน, สุรินทร์มาราธอน, นครพนมมาราธอน, พนมรุ้งมาราธอน, แพร่มาราธอน, เชียงใหม่มาราธอน เป็นต้น หัวข้อการประเมินจะมีความใกล้เคียงกับมาราธอนนานาชาติ แต่จะมีบ้างหัวข้อที่ถูกตัดออกไปทั้งนี้เนื่องจากผู้จัดจะเน้นไปที่นักวิ่งในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นหัวข้อการประเมินมีดังต่อไปนี้

1. สถานที่การจัดการแข่งขันและเส้นทางการวิ่ง
• บรรยากาศของสถานที่แข่งขันและเส้นทางการวิ่ง( Air, View, Space for comfortable-paced running, Sign and Stage)
• ลักษณะของเส้นทางการวิ่ง (Type of course, flat or hilly)
• ป้ายบอกทางและระยะทาง (Course markings and distance markers)
• การมีส่วนร่วมของชุมชน (Cooperation of the community and spectator support)
• จุดให้น้ำ (Number of water station)
• ห้องน้ำ (Toilet at the start area and along the course)
• ถังขยะ และการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมของผู้จัด (Trash cans and environmental concerned)
• บริการนวดระหว่างและหลังการแข่งขัน (Massage service)

2. การจัดการเพื่อความปลอดภัยของนักวิ่ง
• รถพยาบาล และการปฐมพยาบาล (First-aids and/or ambulance)
• การปิดถนน หรือ การควบคุมจราจร(Traffic control)

3. การรับสมัคร การบริการจุดฝากของ
• ความสะดวกในการรับสมัคร รายงานตัว (Comfortable to register)
• การรับฝากของ (Baggage Deposit service)

4. อาหารและเครื่องดื่มสำหรับการแข่งขัน
• ปริมาณ (Quantity)
• คุณภาพ (Quality)
• เกลือแร่ และผลไม้(Fluids, mineral, sport drink and fruits at water stations)

5. วัตถุประสงค์และความเหมาะสมของค่าสมัคร
• วัตถุประสงค์และค่าสมัครที่สมเหตุสมผล (Suitable and reasonable entry fee)
• มีค่าสมัครสำหรับนักเรียนหรือเยาวชน เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนมาออกกำลังกายมากขึ้น (Encourage and inspire youth to join)

6. ความสะดวกในการเดินทาง หรือที่จอดรถ และความปลอดภัยในทรัพย์สินของนักวิ่ง
• ความสะดวกในการเดินทาง ที่จอดรถ หรือ รถบริการรับ-ส่งนักวิ่ง และที่พัก (Transportation, parking and accommodation)
• ความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้ร่วมการแข่งขัน (Security)

7. การประสานงาน ประชาสัมพันธ์ และให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารแก่นักวิ่ง
• การให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆแก่นักวิ่ง(Provide other related information)
• การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ในระยะเวลาที่เหมาะสม (Public relation)

8. สิ่งที่บ่งชี้ความสำเร็จของนักวิ่งมาราธอน
• ประกาศนียบัตร (Finisher certificate)
• เสื้อผู้สำเร็จ (Finisher t-shirt)
• ผลการแข่งขันอย่างเป็นทางการ (Event result)
• ภาพถ่ายระหว่างการแข่งขัน หรือขณะเข้าสู่เส้นชย (Proof photos on the course and/or at finish line to purchase)

9. ความเท่าเทียมและเปิดโอกาสให้นักวิ่งได้มีโอกาสประสบความสำเร็จสักครั้งในการวิ่งมาราธอน
• การแบ่งชุดการปล่อยตัวสำหรับนักวิ่งที่วิ่งช้า (Early start for slow runner or jogger)
• การดูแลนักวิ่งนักวิ่งคนสุดท้าย ซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่กำหนด (Waiting for last runner with qualified time)

10. คุณภาพและความสวยงามของเหรียญที่ระลึก หรือถ้วยรางวัล หรือของที่ระลึกต่างๆ
(Design, material and quality of medal, trophy, t-shirt and etc.)

Remark: 2nd edition 2007

Labels: ,

หัวข้อในการประเมิน สนามวิ่งมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน (Mini-Half Marathon)

1. สถานที่การจัดการแข่งขันและเส้นทางการวิ่ง
• บรรยากาศของสถานที่แข่งขันและเส้นทางการวิ่ง( Air, View, Space for comfortable-paced running, Sign and Stage)
• ลักษณะของเส้นทางการวิ่ง (Type of course, flat or hilly)
• ป้ายบอกทางและระยะทาง (Course markings and distance markers)
• การมีส่วนร่วมของชุมชน (Cooperation of the community and spectator support)
• จุดให้น้ำ (Number of water station)• ห้องน้ำ (Toilet at the start area and along the course)
• ถังขยะ และการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมของผู้จัด (Trash cans and environmental concerned)

2. การจัดการเพื่อความปลอดภัยของนักวิ่ง
• รถพยาบาล และการปฐมพยาบาล (First-aids and/or ambulance)
• การปิดถนน หรือ การควบคุมจราจร(Traffic control)

3. การรับสมัคร การบริการจุดฝากของ
• ความสะดวกในการรับสมัคร รายงานตัว (Comfortable to register)
• การรับฝากของ (Baggage Deposit service)

4. วัตถุประสงค์และความเหมาะสมของค่าสมัคร
• วัตถุประสงค์และค่าสมัครที่สมเหตุสมผล (Suitable and reasonable entry fee)
• มีค่าสมัครสำหรับนักเรียนหรือเยาวชน เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนมาออกกำลังกายมากขึ้น (Encourage and inspire youth to join)

5. อาหารและเครื่องดื่มสำหรับการแข่งขัน

• ปริมาณ (Quantity)
• คุณภาพ (Quality)

6. ความสะดวกในการเดินทาง หรือที่จอดรถ และความปลอดภัยในทรัพย์สินของนักวิ่ง
• ความสะดวกในการเดินทาง ที่จอดรถ หรือ รถบริการรับ-ส่งนักวิ่ง และที่พัก (Transportation, parking and accommodation)
• ความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้ร่วมการแข่งขัน (Security)

7. การประสานงาน ประชาสัมพันธ์ และให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารแก่นักวิ่ง
• การให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆแก่นักวิ่ง (Provide other related information)
• การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ในระยะเวลาที่เหมาะสม (Public relation)

8. คุณภาพและความสวยงามของเหรียญที่ระลึก หรือถ้วยรางวัล หรือของที่ระลึกต่างๆ
(Design, material and quality of medal, trophy, t-shirt and etc.)

Remark: 1st Version 2005

Labels: ,

9.10.06

พระประแดงมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน

ชื่องาน: พระประแดงมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน
สถานที่ : พระประแดง จ.สมุทรปราการ
วันที่ : 8 ตุลาคม 2549
สรุปผลการประเมิน TRES: 76 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการแข่งขันของสนามนี้ ทั้งระยะมินิ และฮาล์ฟ นักวิ่งได้ร่วมวิ่งกันบนสะพานที่สร้างใหม่จากฝั่งธนบุรี (พระประแดง) ข้ามไปถนนปู่เจ้าสมิงพราย และพระราม 3 หรือที่หลายๆคนเรียก “สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม” เส้นทางการแข่งเริ่มปล่อยตัวจาก อ.พระประแดง วิ่งขึ้นบนสะพานระยะมินิวิ่งไปกลับตัวบนสะพาน ส่วนระยะฮาล์ฟหลังจากปล่อยตัวจากพระประแดงวิ่งขึ้นสะพานไปกลับตัวที่จุดแรกก่อนออกพระราม 3 จากนั้นวิ่งย้อนกลับไปขึ้นสะพานอีกครั้งแล้วไปกลับตัวจุดที่ 2 ก่อนออกปู่เจ้าสมิงพราย จากนั้นวิ่งย้อนกลับมาเส้นสุขสวัสดิ์ ก่อนออกสุขสวัสดิ์เลี้ยวซ้ายเข้าพระประแดง เส้นทางการวิ่งถือว่าสวยงามมากช่วงเช้าอากาศเย็นสบาย เห็นทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เต็มไปด้วยตึกสูงตระหง่าน เส้นทางไม่ได้ถูกปิดร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับนักวิ่งดังนั้นนักวิ่งก็ต้องระมัดระวังตัวเองขณะวิ่ง โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางหลังจากลงสะพานวงแหวนอุตสาหกรรมมาแล้ว ประมาณ 2 กม. เข้าสู่เส้นชัย บริเวณพระประแดงซึ่งปกติแล้วบริเวณนั้นจราจรคับคั่งอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องการปิดถนนบริเวณนั้นจึงไม่ต้องพูดถึง นักวิ่งต้องหลบรถขึ้นมาวิ่งบนฟุตบาท แถมช่วงท้ายๆป้ายบอกทางไม่ชัดเจน ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยบอกทางทำให้นักวิ่งหลายคนหลงทาง

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สำหรับพระประแดงมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน แม้ผู้จัดจะคนละรายกันแต่ปัญหาหลักของเส้นทางการวิ่งแห่งนี้คือ การปิดถนนหรือปิดจราจร เนื่องจากพระประแดงมีแพข้ามฟากสำหรับรถจึงทำให้รถมีมากไม่สามารถปิดถนนได้แน่นอน ดังนั้นนักวิ่งที่สนใจวิ่งพระประแดงมินิ-ฮาล์ฟ ต้องยอมรับสภาพตรงจุดนี้ และเวลาแข่งขันต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูงไม่เช่นนั้นคุณอาจได้รับอันตรายได้ง่ายๆเช่นกัน แต่อย่างว่า ทั้งๆที่นักวิ่งก็พอจะรู้ว่าตัวเองต้องมาผจญกับอะไรแต่ก็มาวิ่งเพราะการวิ่งขึ้นสะพานที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆไม่ได้มีโอกาสได้วิ่งกันง่ายๆ บางคนก็ยอมเสี่ยงซักครั้ง ดังนั้นเพื่อแลกกับประสพการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตกับการต้องมาเสี่ยงอันตรายนิดหน่อย นักวิ่งก็ลองพิจารณาไตร่ตรองกันดูก่อนมาวิ่งละกันครับ....

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: คำแนะนำสำหรับผู้จัดอย่างแรกคงต้องขอให้ปิดถนน 100 เปอร์เซ็นต์ได้มั้ยคร้าบบ... ถ้าไม่ได้ก็ขอให้เจ้าหน้าที่คอยดูแลนักวิ่งจนเข้าเส้นชัยให้หมดก่อนได้มั้ย อย่าจัดงานแล้วปล่อยให้นักวิ่งต้องผจญภัยกันเองเลยครับ... สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้โดยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากชมรมวิ่งในบริเวณใกล้เคียงซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาหลายๆจุดคลายไปได้บ้างเพราะนักวิ่งเข้าใจด้วยกันก็จะเข้าใจว่านักวิ่งต้องการอะไร แต่หากในอนาคตจะยังคงมีการจัดวิ่งในบริเวณอำเภอพระประแดง เชื่อได้ว่าหากนักวิ่งเลี่ยงได้ก็เลี่ยงสนามนี้ เว้นเสียแต่ว่าผู้จัดจะเปลี่ยนเส้นทางการจัดวิ่ง หรือหาเส้นทางวิ่งที่มีโอกาสได้วิ่งน้อยๆ เหมือนเช่นสนามนี้

Labels: , ,

25.9.06

วิ่งงานเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช

ชื่องาน: วิ่งงานเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช
สถานที่ : ณ สนามหน้าเมือง จ.นครศรีธรรมราช
วันที่ : 24 กันยายน 2549
สรุปผลการประเมิน TRES: 78 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการแข่งขันของสนามนี้ ระยะทางหมื่นเมตร (10 กม.) วิ่งกันบนถนนเรียบลาดยางในตัวเมืองเมืองนครศรีธรรมราช เส้นทางแม้จะเป็นการวิ่งบนถนนในตัวเมืองแต่บรรยากาศบนในการแข่งขันต่างกับวิ่งในเมืองกรุงเป็นอย่างมาก อากาศสดชื่น ตามเส้นทางการแข่งขันมีโบราณสถานที่งดงามให้ได้ชื่นชมตลอดเส้นทาง สมกับเป็นเมืองประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นการเตรียมการเพื่อความปลอดภัยของนักวิ่งดีมากทีเดียว การจราจรปิดสนิทให้นักวิ่งนับพันได้วิ่งกันอย่างปลอดภัย น้ำมีเพียงพอ มีป้ายบอกระยะทางที่ชัดเจน เป็นระยะ 10 กม.ที่มีคุณภาพมาก

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สำหรับสนามนี้เป็นสนามที่วิ่งไม่ยากเลย น่าวิ่ง นอกจากนั้นเหมาะจะเป็นสนามที่ใช้ประเมินฝีเท้าของตัวนักวิ่งได้เป็นอย่างดีในระยะ 10 กม. เพราะจะได้ปะทะฝีเท้านักวิ่งในรุ่นมากขึ้น เนื่องจากเป็นสนามที่นักวิ่งให้ความสนใจกันเยอะมากแม้จะมีเพียงแค่ระยะสั้นระยะเดียว แม้จะมีนักวิ่งมากผู้จัดใจดีเพิ่มรางวัลให้มากอันดับขึ้นด้วย นอกจากจะได้รู้ฝีเท้าว่าแย่แค่ไหนแต่ก็ยังมีโอกาสได้รับของรางวัลติดมือกลับบ้านเป็นที่ระลึกเหมือนกัน

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับสนามนี้ในด้านเส้นทางการแข่งขัน ด้านเทคนิคต่างๆถือว่าทำได้ดีมากทีเดียว แต่หากผู้จัดมีการประสัมพันธ์ให้มากขึ้นนักวิ่งน่าจะไปร่วมงานกันมากขึ้น เนื่องจากงานวิ่งเดือนสิบเมืองนครจัดในช่วงงานประเพณีเดือนสิบของจังหวัด หากมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมและการแสดงในงานประเพณีเข้าไปด้วยจะเป็นการดียิ่งขึ้น นอกจากนักวิ่งจะได้ร่วมวิ่งออกกำลังกาย ก็ยังมีโอกาสชมบรรยากาศงานเดือนสิบ สัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมของคนเมืองคอน

เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่งดงามน่าอยู่มาก จากที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันหลายๆสนามที่จัดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราชบอกได้ว่าเป็นจังหวัดที่ดูสะอาดตามาก แต่เมื่อมีการจัดวิ่งที่มีนักวิ่งร่วมงานกันอย่างคับคั่งเช่นนี้ ก็เป็นธรรมดาที่ขยะมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นอยากให้ผู้จัดไม่ใช่เพราะงานวิ่งเดือนสิบเท่านั้น น่าจะมีแนวทางที่ช่วยทำให้นักวิ่งได้ตระหนักถึงความสะอาดของสถานที่และเส้นทางการแข่งขันที่บางครั้งเป็นสถานที่ที่งดงาม ซึ่งจะช่วยให้คนภายนอกรู้สึกว่างานวิ่งเป็นงานที่สวยงาม ไม่ใช่เพียงแค่ตอบสนองนักวิ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

Labels: , ,

18.9.06

ฉลองทรงครองราชย์ 60 ปี “สนุก” เสือภูเขา-วิ่งมาราธอน อนุสรณ์สถานฯ ภูพานน้อย ครั้งที่ 1

ฉลองทรงครองราชย์ 60 ปี “สนุก” เสือภูเขา-วิ่งมาราธอน อนุสรณ์สถานฯ ภูพานน้อย ครั้งที่ 1
ณ อนุสรณ์สถานฯ ภูพานน้อย ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม
วันที่ 17 กันยายน 2549
สรุปผลการประเมิน TRES: 61 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับสนามนี้มีการแข่งขันทั้งสิ้น 3 ระยะ 10 21 และ 42.195 เส้นทางการแข่งขันวิ่งไป-กลับบนไหล่ถนนทั้ง 3 ระยะ โดยสตาร์ทจากหน้าอนุสรณ์สถานฯ ภูพานน้อย วิ่งออกไปทางเมืองนครพนม ซึ่งในระยะมาราธอนจะผ่าน อ.นาแก และไปกลับตัวบริเวณหน้าตลาดนัดโค-กระบือ เส้นทางโดยส่วนใหญ่ก็เป็นทางเรียบลาดยาง ยกเว้นช่วง 1.5 กิโลแรก และ กิโลสุดท้าย ที่เป็นเนิน ขาไปก็วิ่งลงเนิน ส่วนเที่ยวกลับเข้าสู่เส้นชัยต้องวิ่งขึ้นเนิน บรรยากาศระหว่างเส้นทางการแข่งขันมีลักษณะใกล้เคียงกันกับ นครพนมมาราธอน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 1 ต.ค. ไม่รู้ว่าโชคดีของนักวิ่งในงานนี้หรือเปล่า เพราะช่วงประมาณ กม. ที่ 16 ถึง ราวๆ 24 มีฝนตกลงมาอย่างหนัก นักวิ่งก็ชุ่มฉ่ำกันเกือบถ้วนหน้า ยกเว้นแนวหน้าไม่กี่ท่านที่เกือบจะไม่ได้สัมผัส แต่หากฝนไม่ตก บอกได้เลยว่าสนามนี้ต้องร้อนเอามากๆเพราะริมไหล่ถนนแทบไม่มีเงาไม้มากนัก สำหรับน้ำในเส้นทางการแข่งขัน ครั้งแรกผู้จัดประกาศว่ามีทุกๆ 5 กิโล นักวิ่งมาราธอนอย่างเราเศร้าเลย แต่โชคดีที่หน่วยงานในชุมชนมาคอยตั้งจุดให้น้ำ โดยรวมแล้วก็มีน้ำครบทุก 2.5 กิโล แม้ว่าเส้นทางการแข่งขันจะไม่ได้ปิดสนิท แต่ว่าก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและอพปร. ของชุมชนให้การดูแลนักวิ่งเป็นอย่างดี

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: เนื่องจากการจัดการแข่งขันครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นครั้งแรก นอกจากนั้นยังดูผู้จัดยังอ่อนประสพการ์ณค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงส่งผลให้การแข่งขันในครั้งนี้ไม่พร้อมเท่าที่ควร แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ได้เริ่มต้น และหวังว่าการประเมินผลในครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการจัดการแข่งขันในครั้งต่อๆไป ปกติการจัดวิ่งระยะมาราธอนก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควรอยู่ ถ้าไม่แน่จริงก็ไม่มีผู้จัดรายใดจัดวิ่งระยะนี้ ส่วนใหญ่ก็จัดเพียง 10 กม. หรือ 21 กม. เป็นต้น ดังนั้นการจัดวิ่งระยะมาราธอนผู้จัดต้องมีความพร้อมและศักยภาพพอสมควร และงานนี้นอกจากผู้จัดจะจัดวิ่งมาราธอน ยังมีการจัดแข่งขันเสือภูเขาในวันเดียวกันอีกด้วย การจัด 2 กิจกรรมในวันเดียวเรียกว่าผู้จัดต้องมีความพร้อมและทีมงานที่ดีมากๆ จากที่ได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ประเด็นสำคัญที่อยากแนะนำให้ผู้จัดได้นำไปพิจารณาและปรับปรุง ประการแรก คือ การประชาสัมพันธ์เพื่อให้นักวิ่งได้รับทราบข้อมูล ข่าวสาร และรายละเอียดที่ชัดเจนของงาน โดยทั่วกัน ซึ่งรวมไปถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน การจัดการแข่งขัน เพื่อนักวิ่งจะได้ประเมินตนเองในการเข้าร่วมแข่งขัน และในการจัดวิ่งระยะมาราธอนผู้จัดควรประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อนักวิ่งจะได้เตรียมตัวและฝึกซ้อมสำหรับการลงแข่งขัน การประชาสัมพันธ์ก็มีหลายรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับกิจกรรมเช่นนี้ นั่นคือ โบรชัวร์หรือแผ่นพับของงาน ซึ่งต้องแจกแจงรายละเอียดให้ชัดเจน เพราะโดยส่วนใหญ่นักวิ่งจะยึดเอาเอกสารนี้เป็นสำคัญ และเป็นการยืนยันว่าจะมีการจัดการแข่งขันขึ้นจริง

ประเด็นถัดมาคือ ระบบการรับสมัคร รายงานตัว และรับรางวัล ในการแข่งขันครั้งนี้จะเห็นว่า การรับสมัครวิ่ง รายงานตัว และรับรางวัล ยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร จะเห็นได้ว่าช่วงรับเงินรางวัล มีนักวิ่งบางท่านเวียนเทียนเข้ามารับเงินรางวัล ทำให้เป็นผลเสียกับผู้จัดเอง เนื่องจากในทุกสังคมย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกันอยู่ ในกลุ่มนักวิ่งก็เช่นกันใบหน้าหรือความเก่งกาจไม่ใช่เครื่องประการันตีว่าเค้าจะเป็นคนดีเสมอ
ประเด็นที่ 3 เรื่องความปลอดภัยของนักวิ่งบนเส้นทางการแข่งขัน ระหว่างการแข่งขันในระยะมาราธอนถือว่าเป็นระยะที่นักวิ่งเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายมากว่าระยะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากภายนอกใยนเส้นทางการแข่งขัน และ อันตรายของระบบภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการขาดน้ำ ขาดน้ำตาล ขาดเกลือแร่ ความร้อน ตะคริว และอื่นๆ ดังนั้นรถพยายาลมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ควรมีรถพยาบาลเตรียมพร้อมอยู่ในเส้นทางการแข่งขันเสมอ ในการแข่งขันครั้งนี้ไม่มีเหตุการ์ณที่ร้ายแรงเกิดขึ้นอาจเนื่องมาจากจำนวนนักวิ่งที่มีน้อย และส่วนใหญ่เป็นนักวิ่งที่วิ่งมาราธอนกันประจำ ทำให้นักวิ่งรู้จักรักษาและระวังความปลอดภัยของตนเองได้ แต่หากเป็นนักวิ่งน้องใหม่ที่อยากลงมาราธอนความไม่พร้อมในเรื่องนี้ อาจทำให้เกิดผลเสียต่อการแข่งขันได้เช่นกัน

อีกประเด็นที่อยากฝากไว้ คือ เรื่องอาหารและเครื่องดื่มหลังจากการแข่งขัน ผู้จัดอาจมองข้ามไป แต่สำหรับนักวิ่งมาราธอนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง เพราะเนื่องจากหลังจากที่นักวิ่งเริ่มปล่อยตัวออกไป ตั้งแต่ 04.00 น. กว่าจะเข้าสู่เส้นชัย ใช้เวลาวิ่ง 3-6 ชม. ซึ่งระหว่างเส้นทางไม่ได้ทานอะไรเข้าไป นอกจากน้ำและเกลือแร่ ดังนั้นนักวิ่งเสียเหงื่อและพลังงานไปมากพอสมควร เข้าเส้นชัยค่อนข้างที่จะเหนื่อยพอสมควร โดยเฉพาะนักวิ่งระยะ 42 กิโล ดังนั้นนักวิ่งต้องการอาหารเพื่อเข้าไปทดแทนพลังงานที่สูญเสียไปบ้าง เล็กๆน้อยๆก็ยังดี

ยังมีอีกหลายประเด็นที่อยากแนะนำแต่กลัวผู้จัดเข้ามาอ่านแล้วจะเสียกำลังใจไปซะก่อน เอาข้อดีมาพูดให้ฟังเป็นกำลังใจให้ผู้จัดบ้าง ปีหน้าจะได้จัดอีกดีกว่า สิ่งที่ประทับใจสำหรับงานนี้ คงจะเป็น ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของเจ้าหน้าที่ ประชาชน หน่วยงาน องค์กรในชุมชน และชุมชนใกล้เคียง ซึ่งจะเห็นได้ว่า การแข่งขันผู้จัดให้น้ำอย่างเป็นทางการ 3 จุด แต่อีกหลายๆจุดเป็นของหน่วยงาน อบต. หลายๆ อบต. ถือว่าเป็นการร่วมมือที่ช่วยให้งานนี้เป็นงานวิ่งที่น่าประทับใจเป็นอย่างมากประเด็นที่ 2 เรื่องที่พัก เนื่องจากบริเวณการจัดการแข่งขันมีโรงแรมที่พักที่ห่างออกไปพอสมควร นักวิ่งต่างถิ่นจากแดนไกล มาช่วงค่ำหาที่พักลำบาก ทางผู้จัดเตรียมที่พักฟรี กางเตนท์พร้อมเครื่องนอนฟรีแก่นักวิ่ง ถือว่าช่วยอำนวยความสะดวกให้นักวิ่งได้เป็นอย่างดี ประเด็นที่ 3 ความตั้งใจจริงของผู้จัดที่จะสนับสนุนให้คนสนใจมาออกกำลังกายด้วยการจัดการแข่งขันทั้งวิ่ง และจักรยานเสือภูเขา หากผู้จัดยังคงยืนหยัดและตั้งใจจริงเช่นนี้ต่อไป และมีศักยภาพพอที่จะจัดทั้งมาราธอนและเสือภูเขา ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ นอกจากนั้นผู้จัดยังช่วยรณรงค์และส่งเสริมให้เยาวชนสนใจมาร่วมกิจกรรมมากขึ้น โดยสังเกตได้จากการแบ่งกลุ่มอายุการแข่งขัน ถือว่าเป็นการกระตุ้นและให้โอกาสกับเยาวชนมากยิ่งขึ้น แต่อาจจะด้วยความมือใหม่ทำให้ถ้วยและรางวัลการแข่งขันในบางรุ่นไม่ได้ถูกแจกออกไป ก็เป็นที่น่าเสียดาย และสุดท้าย การจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนในครั้งนี้ ผู้ประเมินไม่ได้มีอคติต่อผู้จัดแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการให้ผลการประเมินในครั้งนี้ได้ถูกนำไปพัฒนาและปรับปรุงการแข่งขันในครั้งต่อๆไปให้ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อผู้จัดและจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคม และหากผู้จัดยังไม่ตัดใจซะก่อนก็ขอเป็นกำลังใจให้ และยินดีไปร่วมการแข่งขันครั้งที่ 2 แน่นอน...

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
สำหรับสนามนี้เป็นสนามมาราธอนที่วิ่งไม่ยากมากนัก แต่สิ่งที่นักวิ่งต้องเตรียมตัวรับมือนั่นก็คือแสงแดดและความร้อน แม้อากาศจะไม่ร้อนเหมือนสนามไอเอ็นจี หรือสงกรานต์มาราธอน แต่เส้นทางที่วิ่งตามไหล่ถนนไม่ค่อยมีเงาไม้ให้หลบนะจ๊ะ

Labels: , , ,

27.8.06

บึงเสนาทมินิมาราธอน ครั้งที่ 1

บึงเสนาทมินิมาราธอน ครั้งที่ 1
ณ โรงเรียนกีฬานครสวรรค์ จ.นครสวรรค์
วันที่ 26 สิงหาคม 2549
สรุปผลการประเมิน TRES: 72 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับเส้นทางการแข่งขันของสนามนี้เป็นการวิ่งวนเข้าสู่เส้นชัย เส้นทางการแข่งขันเหมือนเป็นเส้นทางครอสคันทรี มีทั้งถนนคอนกรีต ถนนลาดยาง ถนนลูกรัง ถนนลูกรังปนดิน เป็นเส้นทางที่แม้จะไม่มีเจ้าหน้าปิดการจราจรแต่ก็ไม่มีรถมาวิ่งกวนใจนักวิ่ง บางส่วนของเส้นทางการแข่งขันเป็นเหมือนป่าอ้อแซมด้วยหงอนไก่ แต่อาจจะเป็นเพราะผู้จัดยังไม่คิดว่าจะจัดเป็นงานวิ่งเปิดมากนัก เลยทำให้การเตรียมการบางส่วนยังไม่ดีเท่าที่ควร อาทิ ป้ายบอกระยะ หรือ รถพยาบาลระหว่างเส้นทางเป็นต้น

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: ในอนาคตสำหรับผู้ที่สนใจจะร่วมการแข่งขันในงานนี้ หากไม่มีการเปลี่ยนเส้นทางการแข่งขัน เส้นทางการแข่งขันคงเป็นเส้นทางเดิม นักวิ่งคงไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากมายนัก เพราะเส้นทางไม่โหดมากนัก แต่อาจต้องเลือกร้องเท้าคู่ใจซักนิดเพื่อให้รับกับเส้นทางครอสคันทรีหน่อย เนื่องจากการแข่งขันในครั้งนี้จัดโดยโรงเรียนกีฬาจึงทำให้ผู้จัดตระหนักในเรื่องความเหมาะสมของระยะทางกับนักวิ่งมากกว่ารายการอื่นโดยทั่วไป ดังนั้นนักวิ่งก็ควรเคารพกฎกติกามารยาทที่ผู้จัดได้ตั้งขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ได้เพื่อประโยชน์ต่อผู้จัดเลยแต่เป็นประโยชน์ต่อตัวนักวิ่งเอง

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ผู้จัดมีการประชาสัมพันธ์ไม่ดีเท่าที่ควรทำให้นักวิ่งไม่มากนัก แต่ทั้งนี้อาจเนื่องจากผู้จัดเองยังไม่พร้อมที่จะต้อนรับนักวิ่งที่มามากเกินไปอาจทำให้งานออกมาไม่ดี หรือจริงๆอาจจะเป็นเพียงจัดเป็นกิจกรรมภายในแต่เปิดโอกาสให้นักวิ่งในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมบ้างเลยไม่ได้ให้ความสำคัญในด้านการประชาสัมพันธ์มากนัก แต่หากจะมีการจัดในครั้งต่อๆไปจะเป็นการดีถ้าประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นอีก เพราะเส้นทางสนามนี้เป็นเส้นทางสวยงาม และเป็นธรรมชาติ เหมาะที่จะมาวิ่งเพื่อสุขภาพ

สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำจากการจัดงานในครั้งนี้คือเรื่องค่าสมัคร 150 บาท นักวิ่งได้เสื้อที่ระลึก 1 ตัวแต่ไม่มีเหรียญ โดยส่วนใหญ่นักวิ่งอยากได้เหรียญไว้เป็นที่ระลึกดังนั้นเป็นไปได้อยากให้ผู้จัดจัดทำเป็นเหรียญที่ระลึกก็จะเป็นการดีไม่น้อย หรือจัดทำเหรียญแต่ไม่มีเสื้อที่ระลึกเป็นต้น

Labels: , ,

14.8.06

คลองคูณมินิมาราธอน ครั้งที่ 1

คลองคูณมินิมาราธอน ครั้งที่ 1
ณ วัดคลองคูณ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร
วันที่ 13 สิงหาคม 2549
สรุปผลการประเมิน TRES: 82 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับสนามนี้ระยะการแข่งขันมีเพียงระยะเดียวเท่านั้น คือ 10 กม. เส้นทางการแข่งขันเป็นถนนเรียบลาดยาง ไม่มีเนิน วิ่งไป-กลับ 10 กิโลจุดสตาร์ทและเส้นชัยเป็นจุดเดียวกัน ระหว่างเส้นทางการแข่งขันมีป้ายบอกระยะทางที่ชัดเจน และมีจุดให้น้ำที่เพียงพอสำหรับนักวิ่ง สภาพอากาศระหว่างการแข่งขันถือว่ากำลังดี ไม่ร้อนมากนัก ตามเส้นทางการแข่งขันก็เป็นท้องทุ่งนาเขียวขจี นักวิ่งวิ่งได้สบายทั้งเท้าใหม่เท้าเก่า แต่บริเวณจุดปล่อยตัว/เส้นชัย อาจจะแคบไปหน่อย หากนักวิ่งมาร่วมงานมากๆ อาจจะสร้างความลำบากยุ่งยากได้ไม่น้อย

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามนี้คงไม่ต้องแนะนำอะไรกันมากนัก เป็นสนามที่วิ่งง่ายๆ สบายๆ ไม่มีอะไรต้องกังวล สำหรับนักวิ่งที่ชอบบรรยากาศท้องทุ่งนา ธรรมชาติก็ลองมาสัมผัสกันดูสักครั้ง

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับสนามนี้เป็นสนามใหม่อีกสนาม จัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่แม้จะเป็นครั้งแรกแต่ถือว่าจัดได้ดีมากๆ ด้วยความร่วมมือขององค์กรและชุมชนในท้องถิ่นทำให้งานครั้งนี้จัดออกมาได้ประทับใจนักวิ่งเป็นอย่างมาก แม้จะเป็นสนามเล็กๆแต่เป็นสนามที่สร้างสรรค์ เป็นสนามกล้าที่จะแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าสมัครที่ราคาถูกเพียง 100 บาทเท่านั้น กล้าเสี่ยงที่จะบอกว่าหากนักวิ่งอยากได้เสื้อก็ซื้อเสื้อเพิ่มอีก 100 บาท หากไม่ต้องการไม่เป็นไร นอกจากนั้นสำหรับนักวิ่งเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมก็มีเหรียญแจกให้ด้วย ถือว่าเป็นงานวิ่งเล็กๆแต่ใจกล้าเกินตัว

สิ่งที่อยากจะแนะนำสำหรับการแข่งขันครั้งต่อไป การประชาสัมพันธ์ที่ควรจะมีมากกว่านี้ ครั้งนี้ถือว่าการประสัมพันธ์ยังไม่ดีเท่าที่ควร และไม่รู้ว่าจะเป็นการมองศักยภาพผู้จัดเกินไปด้วยหรือเปล่าหากสามารถจัดระยะฮาล์ฟได้จะเป็นการดี และเชื่อว่าหากทุกคน ทุกองค์กรในชุมชนแห่งนี้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เข้มแข็งเช่นนี้ คลองคูณมินิมาราธอน หรือจะเป็นคลองคูณมินิ-ฮาล์ฟมาราธอนประสพความสำเร็จแน่นอน

Labels: , ,

7.8.06

แม่เมาะ มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 15

แม่เมาะ มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 15
วันที่ 6 สิงหาคม 2549
ณ โรงเรียนแม่เมาะวิทยา อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
สรุปผลการประเมิน TRES: 87 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับสนามนี้ มี 3 ระยะให้เลือก ได้แก่ 5 กม. 10.5 กม. และ 21 กม. ทั้ง 3 ระยะมีเส้นทางต่างกันออกไป โดยที่ระยะ 5 กม. และ 10.5 มีจุดปล่อยตัวและเส้นชัยอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนแม่เมาะวิทยา เส้นทางวิ่งไป-กลับเข้าเส้นชัย เส้นทางการวิ่งเป็นถนนลาดยาง ในระยะ 10.5 มีเนินชันวิ่งขึ้นลงเนินเป็นว่าเล่น ถือว่าเป็นเส้นทางที่สวยงาม ท้าทายนักวิ่งเป็นอย่างมาก

สำหรับระยะฮาล์ฟมาราธอน หรือ 21 กม. เส้นทางคล้ายกันกับระยะ 10.5 กม. ต่างกันเพียงจุดปล่อยตัว
โดยปล่อยตัวจากศาลาจุดชมวิวลงมาแล้วมาเข้าสู่เส้นชัยบริเวณหน้าโรงเรียนแม่เมาะวิทยาเช่นกัน การปล่อยตัวสำหรับระยะฮาล์ฟมาราธอนเช่นนี้ช่วยทำให้นักวิ่งไม่เบื่อเส้นทาง ได้เห็นธรรมชาติอันสวยงามได้เป็นอย่างดี และนอกจากนั้นการนำนักวิ่งไปปล่อยอีกจุดแล้วให้วิ่งกลับมาสู่เส้นชัย ก็เป็นการช่วยกระตุ้นให้นักวิ่งมีความพยายามที่จะไปให้ถึงเส้นชัยให้ได้

ส่วนเรื่องการจัดการระหว่างเส้นทางการแข่งขัน ทุกระยะมีการปิดเส้นทางให้นักวิ่งได้อย่างปลอดภัย มีน้ำบริการไม่ขาดทุก 2.5 กม. มีป้ายบอกระยะที่ชัดเจนนอกจากนั้นยังมีป้ายโฆษณางานแม่เมาะแขวนเป็นระยะซึ่งทำให้ผู้ที่ผ่านไปมาและคนในชุมชนสังเกตเห็นและรับรู้กิจกรรมที่จัดขึ้น นอกจากนั้นนักวิ่งที่ต้องการเก็บภาพประทับใจระหว่างเส้นทางก็ทำให้รู้ได้ว่าเป็นงานวิ่งงานใด ถือได้ว่าเป็นเส้นทางการแข่งขันที่ถูกจัดเตรียมได้ดีมากๆทีเดียว

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามแม่เมาะถือว่าเป็นสนามที่มีลักษณะของเส้นทางการแข่งขันที่ค่อนข้างโหดเอาการทีเดียวสำหรับระยะมินิ และ ฮาล์ฟมาราธอน เนื่องจากมีเนินสูงชันเยอะพอสมควร เรียกว่าได้นักวิ่งได้ออกแรงกันเต็มที่ แต่ถึงแม้เส้นทางจะดูโหดแต่ด้วยสภาพบรรยากาศที่สดชื่น เป็นธรรมชาติ สำหรับนักวิ่งที่ชอบความเป็นธรรมชาติสนามนี้เป็นสนามที่น่าวิ่งมากๆ แต่ว่าตัวนักวิ่งเองก็ต้องฝึกซ้อมเพื่อเตรียมรับกับการวิ่งขึ้น-ลงเขามาบ้างพอสมควร และในสภาพอากาศและฤดูกาลที่แปรปรวนในปัจจุบัน การวิ่งบนไหล่ถนน ริมไหล่ทางจึงไม่ค่อยมีร่มเงาไม้มากนัก ดังนั้นนักวิ่งที่กลัวแดด แพ้แดดก็ควรเตรียมหมวกหรือครีมกันแดดไปด้วยก็เป็นการดีสำหรับสนามนี้

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สนามนี้ถือว่าผู้จัดอย่าง กฟผ. เป็นชื่อการันตีคุณภาพการจัดงานได้เป็นอย่างดีเกือบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเทคนิค และด้านการเสริมสร้าง จรรโลง และพัฒนาสังคม รวมไปถึงการส่งเสริมเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมดีๆเช่นนี้ และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้ผู้จัดช่วยหาแนวทาง หรือว่าช่วยกันกระตุ้นให้นักวิ่งมีจิตสำนึกช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม รักความสะอาดของสถานที่จัดการแข่งขัน แต่จากการร่วมงานในครั้งนี้ก็พอจะเห็นและสัมผัสได้ ว่าผู้จัดเองก็มีความตระหนักในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ภาพบางภาพที่ออกมา เศษขยะ แก้วน้ำ ที่ถูกทิ้งเกลื่อน ทั้งๆที่มีถังขยะจัดเตรียมไว้ให้เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักวิ่งจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ยังคงทำนิสัยมักง่ายไม่สนใจใยดี งานวิ่งที่มีคุณภาพอย่างแม่เมาะมินิ-ฮาล์ฟ ผู้ที่เข้าร่วมงานก็ควรมีคุณภาพด้วยเช่นกัน ดังนั้นจะเป็นการดีหากผู้ใจมีมาตรการหรือแนวทางที่จะเป็นการกระตุ้นให้นักวิ่งตระหนักในเรื่องของการรักษ์สิ่งแวดล้อมของสถานที่การจัดงานด้วยเช่นกัน

Labels: , ,

22.7.06

ที่พักสำหรับพัทยามาราธอน

Labels: ,

12.7.06

50 ปี รพ.พระพุทธบาทมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ประเพณีตักบาตรดอกไม้

50 ปี รพ.พระพุทธบาทมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ประเพณีตักบาตรดอกไม้
วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2549 วันเข้าพรรษา
ณ ซุ้มประตูทางเข้าวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
สรุปผลการประเมิน TRES: 90 คะแนน (งานแรกที่ทำได้ถึง 90 คะแนน)

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับสนามนี้ มี 3 ระยะให้เลือก ได้แก่ 3 กม. 10.5 กม. และ 21 กม. ทั้ง 3 ระยะปล่อยตัวออกจากบริเวณซุ้มประตูทางเข้าวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร วิ่งเข้าไปด้านในผ่านวัดพระพุทธบาท สำหรับระยะฮาล์ฟมาราธอน หรือ 21 กม. วิ่งไปเรื่อยๆตามถนนในหมู่บ้าน อ.พระพุทธบาท ไปเรื่อยๆจนถึงคลองชลประทานเลี้ยวขวาวิ่งเรียบคลองชลประทานไป 3 กม. ผ่านจุดกลับตัว แล้วย้อนกลับเส้นทางเดิม เส้นทางโดยส่วนใหญ่เป็นทางเรียบลาดยาง เส้นทางระหว่างการแข่งขันมีเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและอาสาสมัครคอยดูแลตลอดเส้นทาง แม้ว่าฝนจะตกแต่จุดให้น้ำมีบริการน้ำเย็นทุก 2.5 กม.ไม่มีขาด มีรถพยาบาลคอยดูแลนักวิ่ง มีป้ายบอกระยะทุกๆ 1 กม. เส้นทางการแข่งขันในวันนี้ถือว่าอากาศดีมากเนื่องจากมีฝนตกลงมาทำให้อากาศไม่ร้อน แต่นักวิ่งอาจลำบากหน่อยเพราะรองเท้าพอเปียกแล้วทำให้วิ่งไม่สะดวกนัก

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามนี้เป็นสนามวิ่งที่นักวิ่งไม่ควรพลาด เป็นงานวิ่งที่จัดวิ่งในวันเข้าพรรรษา หนึ่งปีมีวันเดียว ถือว่าเป็นสนามวิ่งที่เหมาะกับนักวิ่งเป็นอย่างมากที่จะใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าจริงๆ ได้ไปวิ่งออกกำลังกาย ได้ทำบุญ ได้พักผ่อน ได้ท่องเที่ยว และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันสืบสานประเพณีอันดีงามทางพุทธศาสนา และนอกจากนั้นสถานที่การจัดงานก็เดินทางสะดวกมากๆ ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนักใช้เวลาเพียงแค่ ชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง มากไปกว่านั้นการจัดงานการต้อนรับของผู้จัดงานในครั้งนี้เรียกว่าเป็นไปอย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงรับรองนักวิ่ง หรือแม้แต่ที่พัก เรียกว่าเอาใจเค้ามาใส่ใจเราจริงๆ

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: เป็นการจัดงานครั้งแรกหรือเปล่าไม่แน่ใจแม้จะเป็นการจัดกันเอง แต่การจัดงานออกมาเรียกว่ายอดเยี่ยมมาก ไม่ใช่เพียงแค่มีอาหารเหลือเฟือเหมือนเป็นงานเลี้ยง แต่เป็นการเอาใจใส่ในทุกๆเรื่องของนักวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล มีกองเชียร์มาให้กำลังใจนักวิ่งท่ามกลางสายฝน และสนุกครื้นเครงจนกระทั่งนักวิ่งคนสุดท้ายเข้าสู่เส้นชัย เป็นงานวิ่งที่หน่วยงานต่างๆในท้องถิ่นและคนในชุมชนให้ความร่วมมือกันอย่างขันแข็ง ค่าสมัครฟรี สำหรับนักเรียน และ ค่าสมัครสำหรับครอบครัว 500 บาท ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนเริ่มออกกำลังกายได้มากขึ้น ถังขยะเกือบร้อยในบริเวณงาน มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล คอยเก็บและเททิ้งตลอด เป็นการตระหนักถึงภาพลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

งานนี้ถือว่าเป็นงานวิ่งที่จัดได้ดีมากและมีความเหมาะสมเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้ว ยังเชื่อว่าวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ข้อของงานนี้บรรลุผลไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่หากมีจัดเป็นการต่อเนื่องทุกๆปี เชื่อว่างานวิ่งดีๆเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก ประชาชนและคนในชุมชนจะมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ประเพณีตักบาตรดอกไม้จะถูกสืบทอดต่อไป เป็นประเพณีที่คนไทยรู้จักกันมากยิ่งขึ้น

สุดท้ายคงต้องบอกว่า งานนี้เป็นงานที่มีคุณภาพจริงๆ ไม่ใช่แค่การจัดวิ่ง ไม่ได้จัดเพื่อนักวิ่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการจัดงานเพื่อทุกคนที่เข้าไปร่วมงาน ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนที่ได้ไปร่วมงานจะรู้สึกมีความสุข ปีนี้ใครพลาด ปีหน้าก็อย่าพลาด ปีนี้ใครที่ได้ไปสัมผัสแล้วก็คงต้องกลับไปสัมผัสบรรยากาศกันอีกแน่นอน...

Labels: , ,

26.6.06

ธัญญารักษ์มินิมาราธอน ครั้งที่ 8

ธัญญารักษ์มินิมาราธอน ครั้งที่ 8
อาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2549
สถาบันธัญญารักษ์ ถ.วิภาวดีรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
สรุปผลการประเมิน TRES: 80 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการแข่งขันสำหรับธัญญารักษ์มินิมาราธอนที่ใช้ในปีนี้ยังคงเป็นเส้นทางเดิม จุดสตาร์ทออกจากหน้าสถาบันธัญญารักษ์แล้วนักวิ่งเลี้ยวซ้ายออกไปวิ่งบนถนนคู่ขนานวิภาวดีรังสิตใต้ทางด่วนโทลเวย์ ระยะ 5 กิโลวิ่งไปกลับตัวที่ 2.5 กม. ส่วน 10 กิโลก็วิ่งไปกลับตัวที่ 5 กม. เส้นทางการแข่งขันวิ่งไป-กลับบนถนนสายหลักแต่เส้นทางการจราจรถูกปิดสนิทสำหรับงานวิ่งปีละครั้งของสถาบันธัญญารักษ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอปพร. ให้การดูแลนักวิ่งตลอดเส้นทางเป็นอย่างดี จุดให้น้ำมีทุกๆ 1 กิโล การเตรียมการของผู้จัดงานเป็นไปอย่างดีมาก เสียแต่ว่าอากาศตามเส้นทางการวิ่งมีแต่ควันท่อไอเสียจากรถที่สัญจรไปมาอย่างหนาแน่น และเส้นชัยที่ถูกจัดขึ้นบนทางคู่ขนานก่อนจะเลี้ยวขวาเข้าสู่สถาบันเพื่อลดปัญหาการจราจรและความปลอดภัยของนักวิ่ง

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สำหรับสนามนี้เป็นสนามที่เหมาะกับนักวิ่งทุกระดับ เป็นทางเรียบตลอดระยะทั้ง 5 และ 10 กิโล เป็นสนามที่สถาบันธัญญารักษ์เป็นผู้จัดเองและสมเป็นสถาบันเพื่อสุขภาพและพยาบาลดังนั้นความปลอดภัยสำหรับนักวิ่งหายห่วง หากแต่ว่านักวิ่งที่แพ้ฝุ่น ควัน ไอเสีย คงต้องคิดหนักหน่อยเพราะเส้นทางการวิ่งแม้จะปิดสนิทให้นักวิ่งก็จริงแต่การจราจรบนถนนเส้นวิภาวดีรังสิตขาเข้าเป็นเส้นที่รถพลุกพล่าน ควัน ไอเสีย มีมากๆ คนที่แพ้ควันท่อไอเสียก็ควรเลี่ยง

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับงานวิ่งธัญญารักษ์มินิมาราธอน ถือว่าเป็นงานวิ่งที่เริ่มจะจัดเป็นประจำทุกปีไปแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 ซึ่งถือได้ว่าผู้จัดได้พัฒนา ปรับปรุงการจัดงานขึ้นทุกปี และถือได้ว่าเป็นสนามในกรุงเทพที่น่าวิ่งอีกงานทีเดียว แม้ว่าเส้นทางจะไม่ได้สวยงามหรือมีบรรยากาศดีแต่อย่างใด แต่ด้วยการบริหาร การเตรียมการ ความพร้อม และความตั้งใจของทีมงานธัญญารักษ์ทำให้งานวิ่งธัญญารักษ์เป็นงานวิ่งที่น่าวิ่งสำหรับนักวิ่งทุกๆระดับ และหวังว่าธัญญารักษ์จะรักษาความมีคุณภาพต่อไปและนักวิ่งจะให้การสนับสนุนสนามนี้มากยิ่งขึ้นไป และสิ่งหนึ่งที่อยากฝากผู้จัดเอาไว้คือ การสนับสนุนให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกำลังกาย เพราะจะเห็นได้ว่า นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ มีจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้ หากเป็นไปได้การส่งเสริมเยาวชนด้วยการลดค่าใช้จ่ายการสมัครบางส่วนสำหรับเยาวชนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ดี เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากยิ่งขึ้น

Labels: , ,

19.6.06

ภูเก็ตนานาชาติมาราธอน ครั้งที่ 1

ภูเก็ตนานาชาติมาราธอน ครั้งที่ 1
อาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน 2549
ณ ลากูน่า รีสอร์ท จ.ภูเก็ต
สรุปผลการประเมิน TRES: 83 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับเส้นทางการแข่งขันภูเก็ตนานาชาติมาราธอน ครั้งที่ 1 นี้ เส้นทางประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นถนนราดยาง จะมีบางส่วนที่เป็นถนนลูกรังและคอนกรีต เส้นทางเป็นทางเรียบบวกเนินประมาณ 4-5 ลูก ที่พอจะตัดกำลังนักวิ่งได้ไม่น้อยทีเดียว การแข่งขันระยะมาราธอนเริ่มจากจุดปล่อยตัวลากูน่า วิ่งขึ้นไปทางทิศเหนือไปถึงอุทยานแห่งชาติสิรินาถวิ่งเรียบหาดไนยาง 2 กิโล แล้วย้อมกลับลงมาเส้นทางเดิม พอมาถึงกิโลที่ 35 วิ่งอ้อมเข้าไปหาดลายัน แล้ววิ่งเรียบหาดลงมาเรื่อยๆเพื่อกลับเข้าสู่เส้นชัยที่ลากูน่า เส้นทางการวิ่งบรรยากาศดีเป็นธรรมชาติสมเป็นเมืองท่องเที่ยว มีทั้งสวนยาง สวนผลไม้ ตลอดเส้นทางการแข่งขัน แม้ว่าอากาศจะร้อนบ้างแต่เกือบตลอดทางก็มีเงาไม้ให้หลบแดด ระหว่างเส้นทางการแข่งขันมีป้ายบอกระยะทุกๆ 1 กิโลเมตร และจุดให้น้ำทุกๆ 2.5 กิโลเมตร น้ำไม่ขาดส่วนในช่วงหลังๆ ผู้จัดมีน้ำให้เกือบทุกๆ 1 กิโลและดูแลจนนักวิ่งคนสุดท้ายเข้าสู่เส้นชัย

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สำหรับสนามนี้เป็นสนามที่ไม่ยากนักสำหรับนักวิ่งที่ผ่านมาราธอนมาบ้างแล้ว แต่สำหรับฝีเท้าใหม่ที่ลงมาราธอนในระยะแรกควรฝึกซ้อมการขึ้นและลงเนินมาบ้างพอสมควร ความยากของสนามนี้ไม่เหมาะที่จะใช้ลงเป็นมาราธอนแรก แต่หากคุณคิดว่าคุณพร้อมและซ้อมมาดีพอสนามนี้ก็ไม่ยากนัก และเส้นทางก็ไม่น่าเบื่อ มีทั้งเป็นเขา เนิน ชายหาด และสิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำสำหรับนักวิ่งไทย เนื่องจากสนามนี้จัดในส่วนของพื้นที่เอกชนบวกกับความเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับสนามนี้ค่อนข้างสูงพอดู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง ที่พักและอื่นๆ ดังนั้นนักวิ่งที่สนใจสนามนี้คงต้องยอมรับกับสนนราคาค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น แนวทางการประหยัดค่าใช้จ่ายบางส่วนสำหรับสนามนี้ คือการเดินทางร่วมกันเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็ก หรือกลุ่มใหญ่ แล้วเหมารถตู้ตลอดทริปการเดินทางจะช่วยให้นักวิ่งประหยัดได้มากทีเดียว

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: มาราธอนสนามนี้ปล่อยตัวเวลา 05.00 น. ถือว่าเป็นการปล่อยตัวที่ค่อนข้างสายสำหรับมาราธอนเมืองไทย แต่ว่าเพื่อให้นักวิ่งได้สัมผัสกับบรรยากาศเมืองภูเก็ตมายิ่งขึ้นการปล่อยตัว 05.00 น. สำหรับสนามนี้ก็ถือว่ายอมรับได้ แต่ผู้จัดคงต้องระมัดระวังเรื่องจุดให้น้ำเป็นพิเศษ และสำหรับการจัดครั้งแรกสำหรับสนามภูเก็ตนานาชาติมาราธอน ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีมากของสนามนี้ จุดให้น้ำมีน้ำเพียงพอ มีเครื่องดื่มเกเตอเรทและผลไม้บ้าง หากยังคงรักษาคุณภาพไว้ได้เช่นนี้ มาราธอนนานาชาติสนามนี้จะเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวนอกภูมิภาคเอเชียได้อีกไม่น้อยทีเดียว และขอเป็นกำลังใจให้ผู้จัดได้มีกำลัง แรงใจในการจัดสนามภูเก็ตนานาชาติมาราธอนครั้งที่ 2 และครั้งต่อๆไป

Labels: , , , ,

12.6.06

ลานสกามาราธอน 2549

ลานสกามาราธอน 2549
ณ อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช
อาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2549
สรุปผลการประเมิน TRES: 80 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: ลานสกามาราธอนครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นครั้งที่ 2 จากครั้งแรกได้คะแนนการประเมินไปเพียง 76 คะแนน ครั้งนี้ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงได้คะแนนเพิ่มขึ้นมาถึง 80 คะแนน ตอนนี้ลานสกามาราธอนเป็นสนามมาราธอนอีกสนามที่นักวิ่งน่าไปวิ่งมาก เส้นทางการแข่งขันทั้ง 10 กม. และ 42 กม. เรียกว่าเป็นเส้นทางเดิมที่ปล่อยตัวออกจากที่ว่าการอ.ลานสกา วิ่งออกไปทาง อ.ร่อนพิบูลย์ และกลับตัวที่สามแยกบ้านศาลาแขกหลัก กม.ที่ 19 เป็นเส้นทางที่สวยงามและท้าทาย เส้นทางเป็นเขาให้วิ่งข้ามกันเป็นลูกๆ เนินพัทยาต้องเรียกว่าเด็กๆ... แต่ถึงแม้จะต้องวิ่งข้ามเขาโดยเฉพาะเขาช้างสี ลานสกามาราธอนก็ยังเป็นมาราธอนที่ดูจะไม่โหดร้ายเท่าพัทยามาราธอนอยู่ดี สนามนี้ก็ยังคงต้องยืนยันว่าเป็นสนามที่เอาสนามพัทยามารวมกับบรรยากาศจอมบึง และหากนักวิ่งอยากรู้ว่าพัทยาบวกกับจอมบึงจะออกมาสภาพไหนคงต้องไปสัมผัสกันสักครั้งแล้วจะติดใจ

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามนี้คงไม่มีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมจากครั้งที่แล้วเพราะเส้นทางและการจัดงานยังคงคุณภาพดีๆเหมือนที่ผ่านมา อยากแนะนำเพียงว่าสนามมาราธอนนี้เป็นสนามที่นักวิ่ง หรือมนุษย์มาราธอนทั้งหลายควรมาสัมผัสกันสักครั้ง เป็นสนามที่เพรียบพร้อมด้วยบรรยากาศของการพักผ่อน น้ำใจงามๆ กำลังใจดีๆ มากมายก่ายกอง จากพ่อแม่พี่น้อง ชาวบ้านในชุมชน หากนักวิ่งท่านใดสนใจจะลองลงมาราธอนที่ท้าทายมากๆ สักครั้งในชีวิต เรียกว่า สนามนี้ก็เป็นสนามที่ท้าทายไม่ใช่เล่น แต่หากผึกซ้อมวิ่งขี้น-ลงเขากันมาบ้างก็จะดี

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: เป็นการจัดวิ่งมาราธอนเป็นครั้งที่สอง จุดบกพร่องจากการจัดงานในครั้งแรกได้ถูกปรับปรุงแก้ไขได้ดีมากขึ้น หากผู้จัดยังคงรักษามาตรฐานและคุณภาพดีอย่างนี้ไว้ได้ต่อไป รับรองว่า ลานสกามาราธอน ก็คงเป็นอีกมาราธอนที่นักวิ่งจะให้ความนิยมไม่น้อยกว่าจอมบึงมาราธอนเลยทีเดียว และหากมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆมากยิ่งขึ้น น่าจะเป็นมาราธอนระดับประเทศได้อีกสนามแต่ผู้จัดคงต้องใช้เวลาเป็นการพิสูจน์รวมทั้งการสนับสนุนจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมากยิ่งขึ้น ก็ขอเป็นกำลังให้ผู้จัดลานสกามาราธอนมีแรงมีกำลังใจต่อไป

Labels: , , ,

4.6.06

เขื่อนคลองท่าด่านมาราธอน ครั้งที่ 1

เขื่อนคลองท่าด่านมาราธอน ครั้งที่ 1
อาทิตย์ ที่ 4 มิถุนายน 2549
ณ เขื่อนคลองท่าด่าน จ.นครนายก
สรุปผลการประเมิน TRES: 70 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการแข่งขันระยะมาราธอน 42.195 ของเขื่อนคลองท่าด่านมาราธอน ครั้งที่ 1 ได้เริ่มขึ้น ณ บริเวณวงเวียนหน้าสันเขื่อนฯ แล้ววิ่งออกมาสู่ถนนนครนายก-นางรอง ผ่านสี่แยกประชาเกษม เข้าสู่หมู่บ้านขาม ผ่านวัดบุหย่อง วัดเขาทุเรียน วัดกุดตะเคียน วัดเขาน้อย และกลับเข้าสู่เส้นชัย ณ จุดสตาร์ทอีกครั้ง เส้นทางการแข่งขันในครั้งนี้ถือว่าเป็นเส้นทางที่สวยงามมากทีเดียว บรรยากาศของธรรมชาติท้องทุ่งนา ขุนเขา อากาศก็สดชื่นไม่ร้อนมากนัก มีฝนพรำลงมาในบางจุด เส้นทางวิ่งก็ไม่ยากจนเกินไปนัก เพราะเส้นทางโดยส่วนใหญ่เป็นทางเรียบ มีเนินบ้างเล็กน้อยซึ่งไม่สูงชันมากนัก ดังนั้นนักวิ่งมาราธอนหน้าใหม่หรือผู้ที่สนใจจะลงมาราธอนเป็นครั้งแรกสนามนี้ก็ไม่เลวทีเดียว เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบการใช้เวลาบนเส้นทางการวิ่งนานๆ

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สำหรับสนามนี้เชื่อว่าหากนักวิ่งที่สนใจจะลงมาราธอนและฝึกซ้อมมาบ้าง สนามนี้ก็ไม่ยากที่จะผ่านเข้าสู่เส้นชัย นอกจากนั้นสนามนี้ยังเป็นสนามที่มีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงมากมาย หากวิ่งเสร็จแล้วนักวิ่งยังสามารถอยู่เที่ยวต่อกันได้ ก็ถือว่าเป็นการใช้วันหยุดเพื่อการพักผ่อนได้สุดคุ้มทีเดียว

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับสนามนี้อยากบอกว่าเส้นทางการแข่งขันและสถานที่การจัดงานถือว่าเป็นมนต์เสน่ห์ที่เรียกจะนักวิ่งได้ไม่น้อยทีเดียวในอนาคต แม้ว่าเส้นทางการวิ่งจะสวยงาม บรรยากาศจะดีเพียงไหน แต่หากผู้จัดยังคงละเลยไม่เห็นความสำคัญในสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักวิ่ง อาทิเช่น น้ำ ห้องน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผลการประเมินมีคะแนนออกมาไม่ดีสักเท่าไหร่นัก ครั้งนี้เป็นการจัดครั้งแรก ก็หวังว่าการจัดการแข่งขันในครั้งต่อๆไป ผู้จัดคงมีการพัฒนาและปรับปรุงในจุดบกพร่องที่ผ่านมาในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำที่บริการตามจุดให้น้ำ น้ำและน้ำแข็งหลังจากนักวิ่งเข้าสู่เส้นชัยซึ่งนักวิ่งต้องการเอาไว้คูลดาวน์ ห้องน้ำบริการซึ่งหาเข้าลำบาก และนอกจากนั้นยังรวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ที่เร่งด่วนเกินไป สำหรับการวิ่งระยะมาราธอนแล้วการประชาสัมพันธ์ในระยะเวลาสั้นๆ นักวิ่งไม่ทันได้เตรียมตัวหรือฟิตซ้อมร่างกาย ซึ่งจะส่งผลทำให้นักวิ่งเข้าร่วมงานการแข่งขันในระยะนี้ไม่มากนัก และเนื่องจากบริเวณการแข่งขันยังมีการก่อสร้างซึ่งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีนัก ทำให้การจัดงานและการเตรียมการอาจจะขลุกขลัก ลุ่มๆดอนๆไปบ้าง หากการก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ก็หวังว่าหลายๆปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะบรรเทาลงไปได้บ้าง
สุดท้าย ในอนาคตเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้คงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.นครนายก ดังนั้นการจัดกิจกรรมต่างในพื้นที่แห่งนี้ควรคำนึงและตระหนักถึงการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงขยะที่จะเกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมต่างๆ ณ ปัจจุบันตามเส้นทางการแข่งขันจะพบว่าค่อนข้างหาถังขยะยากพอสมควร ดังนั้นเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสถานที่แห่งนี้ ทางผู้จัดและสำนักงานจังหวัดควรมีนโยบายหรือแผนงานรองรับตรงจุดนี้ด้วยเช่นกัน และหวังว่าในอนาคต มาราธอนสนามนี้ซึ่งเป็นเส้นทางธรรมชาติบวกกับการจัดงานที่พัฒนาและปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องจากครั้งนี้ จะส่งผลให้เขื่อนคลองท่าด่านมาราธอนเป็นสนามมาราธอนที่นักวิ่งสนใจเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้น

Labels: , , ,

28.5.06

ฉลองครองราชย์ฯ 60 ปี อัลตร้ามาราธอน 60K

ฉลองครองราชย์ฯ 60 ปี อัลตร้ามาราธอน 60K
อาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม 2549ณ หอศิลป์สยาม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
สรุปผลการประเมิน TRES: 70 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: การวิ่งฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี อัลตร้ามาราธอน 60K ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการแข่งขันเป็นหลัก หากแต่เป็นการวิ่งเพื่อเทิดพระเกียรติและฉลองการครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงของเรา เส้นทางการแข่งขันสำหรับการวิ่ง 60 กิโลเมตรครั้งนี้เป็นเส้นการวิ่งบนไหล่ทางจากบริเวณหน้าหอศิลป์สยาม ตรงข้ามหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิ่งออกไปทาง อ.สะเดา เป็นการวิ่งไปกลับเส้นทางเดิม ไป 30 กิโลและกลับมาอีก 30 กิโล เส้นทางการวิ่งมีทั้งทางเรียบสลับกับเนินที่ไม่สูงมาก การวิ่งครั้งนี้ปล่อยตัวเวลา 00.01 น. มีข้อดีคือนักวิ่งไม่ร้อน แต่ก็มีข้อเสียตรงที่เส้นทางค่อนข้างมืด นักวิ่งมองไม่ค่อยเห็นบรรยากาศและทิวทัศน์ของเส้นทางมากนักหรือแม้แต่จะเห็นนักวิ่งด้วยกันเอง จุดให้น้ำและป้ายบอกระยะทางผู้จัดเตรียมการไว้อย่างดี และมีทีมจักรยานคอยดูแลนักวิ่งเป็นช่วงๆ เที่ยวขากลับหลังจาก 06.30 น. การจราจรเริ่มขวักไขว่ การวิ่งบนไหล่ทางทำให้นักวิ่งวิ่งลำบาก ต้องคอยระมัดระวังรถที่ขับไปมาบนถนนมากขึ้น

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: การวิ่งในครั้งนี้เป็นการวิ่งที่มีระยะมากกว่า 42.195 หรือระยะมาราธอนโดยทั่วไป นักวิ่งควรมีการเตรียมตัวดังนี้
การเตรียมตัวและเตรียมใจให้พร้อมสำหรับการวิ่งระยะอัลตร้ามาราธอน ควรมีการฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี และผ่านการวิ่งระยะมาราธอนมาบ้าง ในการฝึกซ้อมระยะมาราธอน 42.195 ควรวิ่งให้ได้ตลอดระยะมาราธอน ซึ่งจะช่วยให้นักวิ่งไม่ทรมานมากนัก หากไม่สามารถวิ่งยืนระยะยาวได้ครบ 42.195 ระยะทางที่ต้องไปต่ออีกเกือบ 20 กิโล จะเป็นระยะที่ทรมานมากๆ มันจะทำให้นักวิ่งท้อและไม่จบการแข่งขันได้ง่ายๆ
เตรียมอุปกรณ์สำหรับการวิ่งที่มีการปล่อยตัวตอนกลางคืนควรมีการเตรียมไฟฉายหรือไฟกระพริบติดตัวไปด้วยก็จะเป็นการดีเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นควรใส่เสื้อผ้าที่สว่างหรือมีบางส่วนเป็นแถบสะท้อนแสง

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: การจัดในครั้งนี้ถือว่าเป็นการจัดขึ้นเพียงครั้งเดียว ไม่ได้จัดเป็นงานวิ่งประเพณีหรือประจำทุกปี ดังนั้นบางครั้งผู้จัดจึงไม่ได้ตระหนักในเรื่องความสวยงามของเส้นทางการวิ่งมากนัก หากแต่อาศัยความสะดวกในการจัดเป็นหลัก แม้จะเป็นการจัดงานวิ่งเฉพาะกิจเช่นนี้ก็อยากให้ผู้จัดได้หาเส้นทางที่ดีกว่าหรือสวยงามกว่านี้ได้ก็จะเป็นการดี นอกจากนั้นการวิ่งระยะทางไกลๆ การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมมากยิ่งขึ้นก็จะดีไม่น้อยทีเดียว หรือมีกองเชียร์บ้างก็จะทำให้นักวิ่งไม่เหงา วิ่งระยะทางไกลถึง 60 กิโลนักวิ่งก็เบื่อเหมือนกัน และภาพในการเตรียมการโดยรวมสำหรับงานนี้ก็ถือว่าใช้ได้

Labels: , , , ,

21.5.06

ทัพฟ้ามินิ-ฮาล์ฟมาราธอน เฉลิมพระเกียรติ

ทัพฟ้ามินิ-ฮาล์ฟมาราธอน เฉลิมพระเกียรติ
อาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2549
ณ กองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง กรุงเทพฯ
สรุปผลการประเมิน TRES: 75 คะแนน จัดได้ดี

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับเส้นทางการวิ่งมี 3 ระยะให้เลือก คือ 5กม. 12 กม. และ 21 กม. เส้นทางการวิ่ง วิ่งภายในเขตบริเวณภายในกองทัพอากาศ เรียบสนามบินและบริเวณลานบิน เส้นทางเป็นทางเรียบลาดยางและพื้นซีเมนต์(ลานบิน) ไม่มีเนิน ทั้ง 3 ระยะจากจุดปล่อยวิ่งวนเข้าสู่เส้นชัย เส้นทางการวิ่งของทหารอากาศมินิมาราธอนเป็นเส้นทางที่หาวิ่งได้ยากมากอีกสนาม นอกจากจะมีเครื่องบินจอดเรียงรายตามเส้นทางการวิ่งให้ได้เห็นกันชัดๆ บรรยากาศที่เครื่องบินกำลังขึ้นและลงใกล้ๆ ซึ่งคิดว่าไม่มีสนามไหนให้นักวิ่งได้สัมผัส ได้เห็นกันขนาดนี้แน่นอนสำหรับการวิ่งในประเทศไทย และคงเป็นสนามฮาล์ฟมาราธอนสนามเดียวที่วิ่งได้รอบเดียวจบและปลอดภัยจากรถที่สัญจรไปมาในเมืองกรุง ป้ายบอกระยะตามเส้นทางการวิ่งมีให้เห็นชัดเจน แต่ก็จะมีนักวิ่งระยะสั้นบางท่านไม่ทันสังเกตป้ายวิ่งเลยจุดที่ต้องเลี้ยวตามเส้นทางวิ่งระยะยาว ดังนั้นเส้นทางการวิ่งที่ทับเส้นนักวิ่งควรสังเกตให้ดี ส่วนจุดให้น้ำระหว่างเส้นทางการแข่งขันมีบางจุดที่น้ำไม่เพียงพอ หรืออุปกรณ์ให้น้ำนักวิ่งไม่เพียงพอ หากว่าวันนั้นอากาศร้อนเหมือนที่ผ่านมา นักวิ่งก็คงไม่สบอารมณ์เท่าไหร่ โชคดีที่มีฝนพรมลงมาให้ชุ่มฉ่ำลดอารมณ์ร้อนไปได้บ้าง...

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามนี้ถูกจัดให้เหมาะกับนักวิ่งทุกระดับ เพราะมีให้เลือกถึง 3 ระยะเลยทีเดียว นอกจากจะมีถึง 3 ระยะให้เลือกแล้วการเดินทางไปวิ่งสนามนี้ก็ไม่ลำบากเพราะอยู่ใจกลางกรุงเทพ และเนื่องจากผู้จัดได้จัดเป็นประจำทุกปีในช่วงนี้เดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นหน้าร้อน แต่ปีนี้อากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนไม่ร้อนเหมือนปีที่ผ่านๆมา ทำให้นักวิ่งหลายคนตัดสินใจลงวิ่งระยะยาวกันมากขึ้น และเป็นสนามวิ่งในกรุงเทพที่เชื่อได้ว่าระหว่างเส้นทางการวิ่งนักวิ่งมีความปลอดภัยสูงมากทีเดียว... สำหรับนักวิ่งในกรุงเทพสนามนี้เป็นอีกทางเลือกที่หากมีโอกาสควรมาสัมผัส

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับการจัดงานปีนี้ก็ถือว่าดี สภาพการจัดงานบอกให้เห็นได้ว่ามีการจัดการและเตรียมการที่ดี เส้นทางการวิ่งก็เป็นเอกลักษณ์สำหรับสนามนี้ได้ดีอยู่แล้ว และถือว่าเป็นสนามที่มีการพัฒนาจากปีที่แล้วเป็นอย่างมาก อาทิ การเพิ่มระยะฮาล์ฟมาราธอนเพิ่มขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการนักวิ่งระยะยาวที่มีมากขึ้น เป็นแนวทางในการสร้างและฝึกฝนนักวิ่งมาราธอนในอนาคต แม้ว่าจะมีการพัฒนาได้ดี แต่ก็ยังมีจุดบกพร่องตามมาบ้างพอสมควรในเรื่องของจุดให้น้ำระหว่างเส้นทางการแข่งขันและหลังการแข่งขัน ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากจำนวนนักวิ่งที่เพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาทำให้ปริมาณน้ำที่คาดการ์ณไว้ไม่เพียงพอ รวมไปถึงอาหารหลังเส้นชัยด้วยเช่นกัน... แต่ผู้จัดก็พยายามที่จะจัดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี พยายามที่จะจัดหาน้ำมาเพิ่ม และอย่างน้อยก็มีข้าวต้มให้นักวิ่งคนสุดท้ายได้ทาน

ถึงแม้การจัดงานในครั้งนี้จะได้คะแนนไม่สูงเหมือนครั้งที่ผ่านมาด้วยข้อบกพร่องที่กล่าวมาข้างต้น แต่ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของเส้นทางวิ่ง การดูแลเรื่องความปลอดภัย รวมไปถึงความตั้งใจของผู้จัด เชื่อได้ว่าการจัดงานในครั้งต่อไปนักวิ่งจะมากยิ่งขึ้นกว่านี้แน่นอน และขอให้ผู้จัดเตรียมการต้อนรับนักวิ่งที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย... รวมทั้งระยะวิ่งที่ยาวมากขึ้นนักวิ่งที่ลงระยะนี้ใช้เวลาในการวิ่งที่นานกว่าระยะอื่นๆดังนั้น ควรคำนึงถึงและเตรียมการสำหรับนักวิ่งระยะยาวให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ปล. สิ่งที่ขาดหายไปจากวันก่อนมาวันนี้นั่นคือ ถังขยะระหว่างเส้นทางการแข่งขัน ผู้จัดอาจจะเห็นว่าไม่ใช่สิ่งสำคัญ กอรปกับนักวิ่งมากมายถังขยะคงดูไม่มีประโยชน์ แต่ก่อนเข้าสู่เส้นชัยบริเวณลานบินทางด้านซ้ายเราจะเห็นคำว่า PREVENT FOD KEEP THIS AREA CLEAN … ฝากไว้ให้คิดละกัน...

Labels: , ,

14.5.06

ไทย-ลาว (หนองคาย) มาราธอน

ไทย-ลาว (หนองคาย) มาราธอน
อาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2549
ณ อนุเสาวรีย์ปราบฮ่อ จ.หนองคาย
สรุปผลการประเมิน TRES: 75 คะแนน ใช้ได้ เกือบดี

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: หนองคายมาราธอนปีนี้ปล่อยตัวเวลา 04.00 น. เส้นทางการแข่งขันสำหรับมาราธอนออกสตาร์ทจากอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เลี้ยวไปเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว วิ่งย้อนกลับมาผ่านหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองบคาย เลี้ยงขวามาทางอุดรฯ กลับตัว กม. ที่15 แล้วย้อนกลับเข้าตัวเมืองหนองคาย เส้นทางการแข่งขันโดยส่วนใหญ่วิ่งบนไหล่ถนนลาดยางมีเนินสลับกับทางเรียบ การควบคุมการจราจรค่อนข้างดี ตามไหล่ทางก็ไม่มีเงาร่มไม้ให้หลบงานนี้ระยะมาราธอนก็วิ่งตากแดดเป็นเนื้อแดดเดียวกันไป ระหว่างเส้นทางการแข่งขันจุดให้น้ำมีบริการน้ำเย็นตลอด น้ำไม่มีขาด ส่วนที่ขาดก็คงจะเป็นป้ายบอกระยะที่บอกระยะขาดไปนิดหน่อยๆในช่วงต้นๆ เลยส่งผลให้ 1 กิโลสุดท้ายที่จะเข้าเส้นชัย กลายเป็น 2 กิโลกว่าๆเกือบ 3 กิโล

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: งานวิ่งหนองคาย (ไทย-ลาว) มาราธอนในครั้งนี้จัดขึ้นถึง 4 ระยะ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 10 21 และ 42 กม. ดังนั้นนักวิ่งทุกระดับไม่ว่าจะเป็นน้องใหม่หรือผู้เจนสังเวียนสามารถร่วมวิ่งงานนี้ได้ เส้นทางก็ไม่ยากเกินไปนัก แต่หากนักวิ่งท่านใดที่ลงในระยะมาราธอนก็อาจจะต้องทนร้อนกันนิดๆหน่อยๆเท่านั้นเอง

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: งานนี้ภาพโดยรวมจัดได้ดีพอสมควร แต่เป็นที่น่าเสียดายที่นักวิ่งร่วมงานไม่มากนัก เพื่อให้งานวิ่งหนองคายหรือที่ผู้จัดอยากให้เป็นไทย-ลาวมาราธอน ประเด็นหลักที่น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักวิ่งที่จะเข้าร่วมงานนี้ นั่นคือเส้นทางการวิ่ง เส้นทางการวิ่งในครั้งนี้ยังเป็นเส้นทางที่ยังไม่เด่นมากนัก เป็นเส้นทางที่วิ่งบนไหล่ถนนในตัวจังหวัดหนองคาย เริ่มต้นและสิ้นสุดในจ.หนองคายไม่ได้ข้ามไปสู่ประเทศลาว ในส่วนของระยะมาราธอนวิ่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแต่ก็ไม่ได้เห็นทัศนียภาพบนสะพานมากนักเพราะยังมืดอยู่ หากเป็นไปได้เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์และสมชื่อของงานวิ่งไทย-ลาวมาราธอน เส้นทางวิ่งจากหนองคาย (ไทย) สู่ เวียงจันทร์ (ลาว) เหมือนในปี 2546 น่าจะเป็นเส้นทางที่จะได้รับความสนใจและให้การตอบรับจากนักวิ่งมากกว่านี้

การจัดวิ่งข้ามประเทศจะเป็นงานที่มีความยุ่งยาก มีอุปสรรคมากพอสมควร รวมทั้งการจัดงานที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นไทย-ลาวมาราธอนจึงถือว่าเป็นมาราธอนที่ท้าทายทั้งผู้จัดและนักวิ่งไม่น้อยทีเดียว และหากมองถึงอนาคตสำหรับไทย-ลาวมาราธอน ที่สามารถวิ่งข้ามประเทศได้จริง วิ่งครั้งเดียวได้เที่ยวถึง 2 ประเทศเชื่อได้ว่าไม่เพียงนักวิ่งไทยเท่านั้นที่จะสนใจร่วมงานนี้แน่นอน และเพื่อให้ได้การสนับสนุนที่มากยิ่งขึ้นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ผู้จัดควรมีการวางแผนและประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนี้ งานวิ่งไทย-ลาวมาราธอนไม่จำเป็นที่จัดขึ้นทุกปีก็ได้ แต่ควรที่จะระยะเวลาในการจัดที่แน่นอนว่าจะจัดช่วงไหน เมื่อไหร่ และจะจัดขึ้นทุกๆกี่ปีก็ว่ากันไป

และในการจัดครั้งที่ผ่านมาสำหรับไทย-ลาวมาราธอน (หนองคาย) มาราธอน ก็ถูกประกาศให้นักวิ่งได้ทราบล่วงหน้ากันแทบไม่ถึงเดือน การประชาสัมพันธ์กระชั้นชิดสำหรับการจัดงานวิ่งมาราธอนถือว่าไม่เหมาะสักเท่าใดนัก นักวิ่งในระยะมาราธอนต้องการการฝึกฝนพอสมควร การแจ้งข่าวและประชาสัมพันธ์ในระยะเวลาอันกระชั้นชิดก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้นักวิ่งตัดสินใจไม่เข้าร่วมงานวิ่งนั้นๆเช่นกัน

หลังงานวิ่งจบลงแม้จะไม่มีเสียงบ่นก่นว่าตามหลังมาใช่ว่างานนั้นจะจัดได้ดีเยี่ยม หากแต่ว่างานวิ่งนั้นไม่มีนักวิ่งที่จะมาสะท้อนให้เห็นทำงานของผู้จัดเท่านั้นเอง ดังนั้นงานวิ่งที่มีนักวิ่งมากๆเสียงที่ตามมาย่อมสะท้อนให้ผู้จัดได้รู้ได้เห็นเป็นอย่างดีว่างานที่เราทำลงไปนั้นดีแค่ไหน มีผลตอบรับเป็นอย่างไร และก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการจัดงาน ไทย-ลาวมาราธอน หรือ หนองคายมาราธอน จะได้ยินเสียงตอบรับมากขึ้นกว่านี้ และขอเป็นกำลังใจให้กับผู้จัดที่จะจัดให้สนามนี้เป็นไทย-ลาวมาราธอนสมชื่อในอนาคต

ปล. ไทย-ลาวมาราธอนวิ่งข้ามประเทศ ควรที่จะเป็นอีกหนึ่งมาราธอนที่ได้รับการสนุนให้เป็นมาราธอนนานาชาติได้ ดังนั้นสมควรเป็นอย่างยิ่งที่สนามวิ่งนี้จะได้รับการสนุนให้มากยิ่งขึ้นจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

Labels: , , ,

6.5.06

เดิน-วิ่ง-ปั่น พิทักษ์หัวหิน

เดิน-วิ่ง-ปั่น พิทักษ์หัวหิน
อาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2549
ณ อ. หัวหิน จ.ประจวบฯ
สรุปผลการประเมิน TRES: 66 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง:
จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดการแข่งขันอยู่บริเวณสวนหลวงราชินี (หัวหิน) โดยเส้นทางการแข่งขันระยะมินิ (10.55 กม.) และฮาล์ฟ (25 กม.) จากจุดสตาร์ทก็วิ่งออกสู่ถนนหัวหิน 35 เข้าสู่ถนนเพชรเกษมโดยเลี้ยวขวาวิ่งไปทางทิศเหนือแล้ววิ่งไปตามไหล่ถนนยาวเป็นทางเรียบโดยตลอด วิ่งลอดผ่านอุโมงค์จนไปถึงค่ายนเรศวร ระยะมินิกลับตัวกิโลที่ 5 ก่อนจะถึงค่ายนเรศวร ส่วนระยะฮาล์ฟวิ่งไปถึงค่ายนเรศวรแล้วเลี้ยวเข้าไปวิ่งวนภายในค่ายแล้ววิ่งย้อนกลับเส้นทางเดิม เส้นทางการจัดในครั้งยังไม่มีจุดเด่นมากนักเนื่องจากวิ่งบนไหล่ทางและข้างทางไม่มีร่มไม้ให้นักวิ่งได้หลบแดดดังนั้นนักวิ่งแนวหลังที่วิ่งช้าหน่อยมากกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไปก็อาบแดดกันไปเต็มๆ ตามเส้นทางการแข่งขันมีป้ายบอกระยะชัดเจน แต่สำหรับจุดให้น้ำในช่วงท้ายๆ เที่ยวกลับน้ำมีเพียงน้ำเปล่าเท่านั้นไม่มีน้ำแข็ง บางจุดน้ำหมดก่อนนักวิ่งทั้งหมดเข้าสู่เส้นชัย

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
เนื่องจากการจัดงานวิ่งพิทักษ์หัวหินในครั้งนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบจากการวิ่งที่ไม่มีการแข่งขันเป็นเน้นเพื่อการแข่งขันดังนั้นนักวิ่งการให้ความสำคัญกับนักวิ่งจะเน้นไปที่แนวหน้าเป็นหลัก ดังนั้นการวิ่งที่มีรูปแบบในลักษณะนี้ให้นักวิ่งแนวกลางหรือกลุ่มไม้ประดับพึงตระหนักและคำนึงให้รอบคอบว่าจะยอมรับสภาพ การดูแลที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักได้หรือไม่ ส่วนในเรื่องของเส้นทางการวิ่งพิทักษ์หัวหินที่เปลี่ยนไปในครั้งนี้ก็ไม่ยากเท่าไหร่นักวิ่งทุกระดับสามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ เพียงแต่สภาพอากาศที่ร้อนเป็นปกติในช่วงฤดูกาลนี้เท่านั้นที่อาจจะเป็นอุปสรรคให้กับนักวิ่งที่แพ้อากาศร้อนๆ

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
จากปีที่แล้ว 2548 งานวิ่งพิทักษ์หัวหินเป็นงานวิ่งที่ได้คะแนนการประเมินสูงสุดของปีถือว่าเป็นการจัดงานวิ่งที่น่าวิ่งมาก แต่ในปีนี้ 2549 รูปแบบงานวิ่งพิทักษ์หัวหินได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปมาก... ประเด็นหลักที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
ประเด็นที่ 1. รูปแบบการจัดงานในครั้งนี้เปลี่ยนจากเดิมโดยก่อนหน้านี้ไม่มีรางวัลให้นักวิ่ง ไม่มีการแข่งขันเต็มรูปแบบเช่นครั้งนี้ มีเพียงเสื้อและเหรียญเท่านั้นที่แจกจ่ายให้กับนักวิ่งเป็นของระลึก จากจุดยืนที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลทำให้ความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เป้าหมายที่จะพิทักษ์หัวหินก็ลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด ถังขยะที่เคยเตรียมไว้ระหว่างเส้นทางวิ่งตามจุดให้น้ำก็หายไป นักวิ่งแข่งขันแทบไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ แต่ต่างกับนักวิ่งเพื่อสุขภาพที่วิ่งกันเพื่อความสนุก ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ กับแก้วน้ำ 1 ใบโยนใส่ถังขยะนักวิ่งกลุ่มนี้ไม่กลัวเสียเวลาอยู่แล้ว มันทำให้งานวิ่งเป็นงานวิ่งที่ดูสะอาดตา หรือเราเรียก Green Running หรือ Eco-marathon ซึ่งมีงานวิ่งไม่กี่งานที่ให้ความสำคัญตรงจุดนี้ และส่วนหนึ่งเดิน-วิ่งพิทักษ์เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการทะนุบำรุงสิ่งแวดล้อมของเมืองหัวหิน (Preserve Hua Hin) ดังนั้นอยากให้หันกลับมามองตรงจุดนี้อีกครั้ง

2. เส้นทางการแข่งขันที่เปลี่ยนไป เส้นทางที่สวยงามบนหาดทรายและท้าทายด้วยการขึ้น-ลงเขาหินเหล็กไฟถูกเปลี่ยนไปวิ่งบนถนนยาวลาดยางแทน เส้นการวิ่งครั้งนี้นักวิ่งหลายคนตั้งความหวังไว้ที่จะได้วิ่งบนหาดทรายแห่งเมืองหัวหิน ได้สัมผัสกับบรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นจากทะเลยามเช้าเหมือนครั้งที่ผ่านๆมา แต่ก็ต้องผิดหวังกลับไป เส้นทางการวิ่งที่ดูจะไม่เป็นเอกลักษณ์สำหรับเมืองหัวหินเพราะเส้นทางเช่นนี้นักวิ่งสามารถหาวิ่งได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาไกลถึงหัวหินก็วิ่งได้.... หากผู้จัดยังต้องการดึงดูดนักวิ่งในภูมิภาคอื่นๆคงต้องหาเส้นทางที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไปหาวิ่งที่ไหนไม่ได้แล้วต้องมาวิ่งหัวหินเท่านั้นถึงจะได้สัมผัสบรรยากาศเช่นนี้ เส้นทางการวิ่งในปี 2548 จากเขาหินเหล็กไฟ วิ่งสู่หาดทรายหัวหินไปเขาตะเกียบก็ดีทีเดียวนอกจากจะได้สัมผัสหาดทรายเมืองหัวหิน ยังแฝงไว้ด้วยความท้าทายในการวิ่งขึ้นเขาอีกด้วย
3. กองเชียร์ของนักเรียน นักศึกษา จากโรงเรียน สถาบันและมหาวิทยาลัยต่างๆที่หายไป ช่วยเป็นแรงเชียร์แรงใจให้กับนักวิ่งได้เยอะทีเดียวและทำให้กิจกรรมการวิ่งพิทักษ์หัวหินมีสีสรรเพิ่มมากขึ้น การนำงบประมาณการจัดงานในครั้งนี้ไปเป็นรางวัลให้กับนักวิ่งแนวหน้าจำนวนมากมาย เปลี่ยนมาเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา หรือโรงเรียนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมดีๆเหมือนอย่างที่ผ่านมา ดูน่าจะมีคุณค่ามากกว่านี้ เงินรางวัลจะตอบสนองเพียงนักวิ่งแนวหน้าเพียงไม่กี่คนแต่จะมีสักกี่คนที่ประทับใจและจดจำว่าได้เงินรางวัลจากสนามนี้ แต่ถึงจะไม่มีเงินรางวัลก็ยังมีนักวิ่งแนวหน้าบางท่านที่มีสปิริตของความเป็นนักกีฬา นักวิ่ง ที่ไม่ได้หวังเพียงแค่เงินรางวัลก็มี อาทิ คุณนิวัฒน์ อ้อยทิพย์ แม้จะเป็นนักวิ่งแนวหน้า จะมีเงินรางวัลหรือไม่มีหากกิจกรรมคุณมีประโยชน์และดีจริงนักวิ่งแนวหน้าผู้มีน้ำใจนักกีฬาท่านนี้และอีกหลายๆคนก็ยินดีร่วมงาน
4. นอกจากการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ความใส่ใจของเจ้าหน้าในสนามการแข่งขัน ก็ดูจะลดน้อยลงไปกว่าก่อนอย่างเห็นได้ชัด แต่เจ้าหน้าที่ดีๆก็ยังมีอยู่แต่ก็ไม่ดีเท่าที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรดาของสรรพสิ่งในโลกนี้ การเปลี่ยนแปลงของงานวิ่งพิทักษ์หัวหินในครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่บังเอิญมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดูราวกับว่าจะก้าวถอยหลังไปสักหน่อย แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการจัดงานครั้งต่อไปจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้ ให้สมกับงานวิ่งชื่อดีๆ อย่าง เดิน-วิ่งพิทักษ์หัวหิน (Preserve Hua Hin)

Labels: , ,

30.4.06

สิงห์บุรี มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 12

งานวิ่งสิงห์บุรี มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 12
วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2549
ณ ศาลาประชาคาปึงเถ่ากงม่า จ. สิงห์บุรี
สรุปผลการประเมิน TRES: (85 คะแนน) จัดงานได้ดี ขอแนะนำว่าน่าไปวิ่ง

เส้นทางการวิ่ง:
การแข่งขันในครั้งนี้มีให้เลือกถึง 3 ระยะ คือ 5, 10 และ 21 กิโล ซึ่งถือว่าเป็นการจัดให้ตอบสนองนักวิ่งได้ทุกระดับรวมไปถึงระดับเยาวชนด้วย เส้นทางการวิ่งเป็นการวิ่งไป-กลับทั้ง 3 ระยะ สำหรับระยะ 10 กิโล และ 21 กิโล นอกจากต้องวิ่งทางเรียบแล้ว ยังมีสะพานสูงสองสะพานให้ออกแรงกันอีกนิดหน่อย จุดสตาร์ทของงานนี้อยู่บริเวณหน้าศาลาประชาคาปึงเถ่ากงม่า พอปล่อยตัวออกไปเลี้ยวขวาสู่ถนนหลัก วิ่งตรงไปถึงแยกห้องสมุดประชาชนเลี้ยวขวาอีกครั้ง แล้ววิ่งตรงไปผ่านวัดสว่างอารมณ์ หลังจากนั้นก็ขึ้นสะพานแรกเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา วิ่งไปเรื่อยๆ ขึ้นสะพานที่สองข้ามแม่น้ำลพบุรี จากนั้นวิ่งต่อไปอีกประมาณ 1 กิโล ทั้งมินิและฮาล์ฟกลับตัวที่จุดเดียวกัน เมื่อกลับตัวแล้วมินิวิ่งกลับเส้นทางเดิมแล้วเข้าสู่เส้นชัย ส่วนฮาล์ฟก่อนจะข้ามสะพานแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายวิ่งเรียบแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านหมู่บ้าน ชุมชนชาวสิงห์บุรี วิ่งไปเรื่อยๆแล้วไปกลับตัวที่กิโลที่ 12.5 กลับออกมาวิ่งขึ้นสะพานแม่น้ำเจ้าพระยา และวิ่งย้อนกลับเส้นทางเดิมเข้าสู่เส้นชัย สภาพอากาศในครั้งนี้ไม่ร้อนอย่างที่คิด อาจเนื่องมาจากเย็นวันเสาร์มีฝนตกลงมา

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
สนามนี้เป็นสนามที่เหมาะสำหรับนักวิ่งทุกประเภท ไม่ว่าจะมือใหม่ เท้าใหม่ หรือเก่ามานาน ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร นักวิ่งก็ไม่ต้องเป็นห่วง ระหว่างเส้นทางมีน้ำบริการให้ไม่ขาดสาย มีรถพยาบาลดูแลตลอดเส้นทาง เป็นงานวิ่งที่นักวิ่งควรให้การสนับสนุนเลยทีเดียว นอกจากนั้นวิ่งไป เที่ยวไป หาอะไรกินอร่อยๆ งานนี้เป็นที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
สำหรับงานที่จัดได้ดีโดยส่วนใหญ่ข้อดีจะมีเยอะ ส่วนข้อบกพร่องจะมีน้อยดังนั้นสนามนี้จึงเป็นอีกสนามหนึ่งที่จะยกข้อที่ควรแก้ไขขึ้นมาก่อนเพื่อที่คราวหน้าผู้จัดจะได้แก้ไขในส่วนนี้ ซึ่งจะทำให้ในการจัดครั้งต่อไปจะจัดงานได้อย่างดีเยี่ยมแน่นอน สิ่งที่อยากแนะนำคือผู้จัดควรมีความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกสักหน่อย เนื่องจากงานนี้เป็นงานที่จัดได้ดี นักวิ่งจึงให้ความสนใจไปร่วมงานกันอย่างคับคั่ง เมื่อนักวิ่งมากขยะที่ตามมากับนักวิ่งก็มีมากขึ้นด้วย ผู้จัดควรเตรียมถังหรือถุงขยะให้มากขึ้นด้วยเพื่อนักวิ่งจะได้ทิ้งขยะลงในถัง เพื่อให้บริเวณสถานที่การจัดงานดูดี งามตามากยิ่งขึ้น และในส่วนของเส้นทางการวิ่ง บริเวณจุดให้น้ำก็ควรจะมีถังขยะหรือภาชนะรองรับบ้าง สังเกตจากจุดให้น้ำระหว่างเส้นทางการวิ่ง บางจุดเป็นหน้าบ้านของชาวบ้าน นักวิ่งก็ทิ้งแก้วน้ำหน้าบ้านเค้าเฉยเลย เสร็จแล้วหน้าบ้านหรือบางทีก็หน้าร้านเค้าดูเหมือนเป็นกองขยะไปเลย ยิ่งเปิดรับอรุณวันใหม่ตื่นมาแต่เช้า ดัน...มีขยะเต็มหน้าบ้าน ถ้าเป็นหน้าบ้านเราแล้วโดนแบบนี้เราก็คงไม่พอใจ และมองในระยะไกลชาวบ้านเหล่านี้แทนที่เค้าจะเข้ามาส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการจัดงานเค้าอาจจะเห็นว่ากิจกรรมอย่างนี้ทำให้เค้าต้องเดือดร้อนก็ได้ แต่หากผู้จัดแก้ไขตรงจุดนี้ได้ก็จะเป็นการดี และในการรับสมัครกรณีพิเศษสำหรับผู้ร่วมงาน 9 ครั้งมาแล้ว หากทางผู้จัดเอาคอมพิวเตอร์มารับสมัครและจัดเก็บข้อมูลก็จะเป็นการดีมากยิ่งขึ้น เพราะบางครั้งนักวิ่งก็ไม่ได้เก็บใบเสร็จหรือเหรียญวิ่งในแต่ละครั้งไว้ หากผู้จัดมีฐานข้อมูลนักวิ่งที่เคยวิ่งเก็บไว้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี อย่างที่สิชลมินิ-ฮาล์ฟมาราธอนได้นำมาใช้

สำหรับเรื่องที่ดีสำหรับงานนี้นักวิ่งที่ได้ร่วมงานคงได้สัมผัสกันแล้วถือว่าผู้จัดได้เตรียมการกันมาอย่างดี พัฒนาและปรับปรุงกันมาตลอด 12 ปี นักวิ่งที่มาร่วมงานเรียกได้ว่าคุ้มซะยิ่งกว่าคุ้ม ส่วนนักวิ่งท่านใดที่ยังไม่เคยมาสัมผัส ควรมาลองดูกันสักครั้ง สิ่งดีๆสำหรับงานนี้มีมากอาจจะเขียนออกมาไม่หมด จะยกเอาประเด็นหลักๆขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้จัดดังนี้
1. เรื่องของการแบ่งระยะ ทั้ง 3 ระยะ ซึ่งมีความเหมาะสมกับนักวิ่งทุกประเภท และเส้นทางที่สวยงาม ไม่ยากไม่ง่ายเกินไป
2. การส่งเสริมให้นักเรียน และเยาวชนสนใจมาออกกำลังกาย ด้วยการไม่เก็บค่าสมัครแถมมีการมอบทุนการศึกษาเป็นรางวัล 3. ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของคนในชุมชน การให้การต้อนรับที่อบอุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร กองเชียร์ระหว่างเส้นทางการแข่งขัน ล้วนแล้วแต่เป็นสีสันของงานวิ่งสิงห์บุรีมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน
4. การให้บริการเดินทางที่สะดวก มีสองแถวฟรีสำหรับนักวิ่ง และบริการข้อมูลข่าวสารให้กับนักวิ่งได้เป็นอย่างดี
5. สำหรับปีนี้ถ้วยรางวัลสวยงามเป็นพิเศษ ใครได้ไปคงต้องถนุถนอมเป็นอย่างดี
สำหรับสิงห์บุรีมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน หากรักษาคุณภาพไว้เช่นนี้เชื่อว่างานนี้จะต้องเป็นงานวิ่งที่นักวิ่งให้การสนับสนุนต่อไปอีกนานเท่านาน ขอเป็นกำลังใจให้ผู้จัดในครั้งต่อไป 29 เมษายน 2550 นักวิ่งไม่ควรพลาด

Labels: , ,

23.4.06

งานเดิน-วิ่ง เทิดพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี

งานเดิน-วิ่ง เทิดพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี
วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2549
ณ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
สรุปผลการประเมิน TRES: (69 คะแนน) การจัดงานพอใช้ได้แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร

เส้นทางการวิ่ง: เส้นทางการวิ่งระยะมินิมาราธอนเป็นการวิ่ง-วน อ้อมกลับมาเข้าเส้นชัยที่เดิม โดยจุดสตาร์ทและเส้นชัยอยู่ข้างสนามฟุตบอลบริเวณการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ออกจากจุดสตาร์ทไปแล้วในระยะ 5 กิโลแรก เส้นทางการวิ่งยังอยู่ในเขตของ รฟม. และบนถนนรัชดาซึ่งนักวิ่งยังวิ่งกันได้สะดวกเพราะไม่มีรถยนต์ แต่หลังจากกม.ที่ 5 ต้องเลี้ยวขวาขึ้นไปวิ่งบนเส้นทางที่มีการก่อสร้างเส้นทางการวิ่งไม่ค่อยดีนัก จากนั้นระหว่างกม. ที่ 6-9 นักวิ่งวิ่งบนถนนกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นถนนสายหลัก การจราจรไม่สามารถปิดได้สนิท นักวิ่งต้องระวังกันหน่อยขณะวิ่ง และกม.สุดท้ายที่เหลือ ก็กลับเข้าสู่บริเวณ รฟม. แล้วเข้าสู่เส้นชัย สภาพโดยรวมของเส้นทางการแข่งขันยังไม่ดีนัก

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: งานนี้เพิ่งจัดเป็นครั้งแรกและใช้เส้นทางการวิ่งที่ไม่เคยมีการจัดวิ่งมาก่อนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี นักวิ่งโดยส่วนใหญ่ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ได้มาลองวิ่งเส้นทางใหม่ๆ ถึงแม้จะเป็นเส้นทางที่จัดวิ่งเป็นครั้งแรก แต่เป็นเส้นทางในตัวเมืองกรุงเทพดังสภาพบรรยากาศที่ออกมาจึงไม่ค่อยแตกต่างจากสนามวิ่งในกรุงเทพอื่นๆมากนัก

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: เนื่องจากการจัดในครั้งนี้เป็นครั้งแรกและไม่แน่ใจว่าจะมีการจัดการแข่งขันเช่นนี้หรือเปล่า แต่ดูจากความน่าจะเป็นแล้วคงไม่น่าจัด เนื่องจากงานวิ่งโดยส่วนใหญ่ หากมีการจัดวิ่งเป็นกรณีพิเศษมักจะมีค่าสมัครที่ค่อนข้างสูงกว่างานวิ่งทั่วๆไป หรืองานวิ่งที่จัดกันเป็นประจำทุกปีเพื่อส่งเสริมการออกกำลังงานวิ่งเหล่านี้ค่าสมัครจะถูกลงมาอีกหน่อยและมีค่าสมัครสำหรับเยาวชนอีกด้วย ดังนั้นอยากฝากไว้สำหรับผู้จัดในครั้งนี้ แม้จะเป็นงานวิ่งที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหารายได้ไปทำประโยชน์ในด้านต่างๆ แต่ก็อยากฝากให้มีค่าสมัครสำหรับเยาวชนบ้างก็จะดีไม่น้อย

Labels: , ,

9.4.06

สงกรานต์มาราธอน ครั้งที่ 20

งานวิ่งสงกรานต์มาราธอน ครั้งที่ 20
วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2549
ณ สวนลุมพินี กรุงเทพ
สรุปผลการประเมิน TRES: (69 คะแนน) การจัดงานพอใช้ได้แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร

เส้นทางการวิ่ง:
เป็นระยะมาราธอนที่วิ่งวนเป็นรอบจำนวน 17 รอบ ภายในสวนลุมพินี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะ เส้นทางวิ่งเป็นทางเรียบ นอกจากจะมีนักวิ่งยังมีประชาชนทั่วไปมาออกกำลังกายในเส้นทางการวิ่งด้วย การวิ่งปล่อยตัวเวลา 08.00 น. และจัดในช่วงหน้าร้อน ทำให้บรรยากาศและสภาพอากาศขณะแข่งขันร้อนมาก เส้นทางการแข่งขันยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจากครั้งที่ผ่านมาในปี 2548

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: งานนี้คงต้องยืนยันว่าสงกรานต์มาราธอนเป็นมาราธอนที่วิ่งยากไม่ง่ายเหมือนที่นักวิ่งหลายคนคิด ไม่ใช้เพราะเส้นทางแต่เป็นเพราะอากาศที่ร้อนจัด หรือเรียกได้ว่าเป็นสนามที่ร้อนที่สุดในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ดังนั้นสนามนี้จึงเป็นสนามที่ท้าทายมนุษย์มาราธอนมากพอดู สนามนี้ไม่เหมาะที่จะเป็นมาราธอนแรกของผู้เริ่มวิ่งมาราธอน และสำหรับผู้ที่ผ่านมาราธอนมาแล้วหลายๆสนามก็ตามที ก็ควรฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นคุณก็อาจไม่จบมาราธอนนี้อย่างง่ายๆเหมือนกัน และในครั้งนี้นักวิ่งจำนวนไม่น้อยที่แม้จะผ่านมาราธอนมานับสิบแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถทนสู้กับความร้อนผ่านเข้าสู่เส้นชัย

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
จากการประเมินที่ผ่านมาในปี 2548 ปีนี้ ผู้จัดถือว่ามีการปรับปรุงพัฒนามากขึ้น ในจุดบกพร่องที่สำคัญ เช่นการเพิ่มจุดให้น้ำและการเตรียมพร้อมในเรื่องความปลอดภัยให้กับนักวิ่ง แต่ถึงแม้จะมีการปรับปรุงในประเด็นสำคัญหลักๆแล้วก็ตาม แต่โดยรวมแล้วยังออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากลักษณะของเส้นทางการแข่งขันที่ต้องวิ่งเป็นรอบ และวิ่งในสวนสาธารณะ ซึ่งสวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณที่ประชาชนทั่วไปมาออกกำลังกายกันมาก จึงทำให้นักวิ่งวิ่งได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร และนอกจากนั้น การประชาสัมพันธ์ที่กระชั้นชิดจนเกินไปเป็นไปได้ในการจัดมาราธอน ผู้จัดควรประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนเพื่อการเตรียมตัว และในการจัดครั้งต่อๆไปหากผู้จัดยังคงที่จะดำรงรักษาประเพณีการวิ่งสงกรานต์มาราธอนโดยที่จะไม่เปลี่ยนแปลงเส้นทางการวิ่ง อยากให้ผู้จัดส่งเสริมให้มีกองเชียร์หลายๆกลุ่มไม่ว่าจะมาจากกลุ่มนักวิ่งเอง หรือจากชุมชนภายนอก เพื่อความสนุกสนานครื้นเครงเป็นกำลังใจแก่นักวิ่งให้มากว่านี้ เพราะการวิ่งเป็นรอบๆ ในสภาพอากาศร้อนๆ ยิ่งจะทำให้นักวิ่งเบื่อเอาง่ายๆ และไม่จบเกมส์เอาง่ายๆเหมือนกัน

Labels: , , ,

20.3.06

ไอเอ็นจี วัฒนธรรมไทยมาราธอน นานาชาติ

งานวิ่ง ไอเอ็นจีวัฒนธรรมไทยมาราธอน นานาชาติ
วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2549ณ วัดภุมรินทร์กุฎีทอง อ. อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
สรุปผลการประเมิน TRES: (66 คะแนน) การจัดงานพอใช้ได้แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร

เส้นทางการวิ่ง:
เส้นทางการแข่งขันระยะมาราธอนใช้เส้นทางวิ่งไปกลับ โดยวิ่งไปตามถนนในชุมชนผ่านสวนผลไม้นานาชนิด อาทิ ส้มโอ ลิ้นจี่ มะพร้าว ขนุน มะม่วง ชมพู่ กล้วย เป็นต้น เป็นเส้นทางที่ใช้สัญจรไปมาของคนในชุมชนที่มีวิถีชีวิตเน้นทางด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก ดังนั้นจึงมีคูคลองหลายสาย ทำให้เส้นทางก็จะมีสะพานหลายสะพานไม่ใช่แค่เพียงทางเรียบวิ่งกันง่ายๆ ตามเส้นทางการวิ่งสนามนี้จะเป็นสนามที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในด้านการได้เห็นการดำเนินชีวิตของคนชุมชนจริงๆ ได้เห็นชาวบ้านกำลังทำสวน ทำนา สอยมะพร้าว ปลอกมะพร้าว ใส่ปุ๋ย เป็นเส้นทางที่ยังคงแสดงให้เห็นวิถีชีวิตคนไทยในอดีตที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากช่วงนี้ใกล้เข้าสู่ช่วงสงกรานต์ อากาศก็จะร้อนเป็นปกติของบ้านเรา และกอรปกับการปล่อยตัวสาย ก็เลยส่งผลให้นักวิ่งร้อน และต้องวิ่งตากแดดกันบ้าง

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามวิ่งที่จัดในช่วงนี้จนถึงช่วงเมษายน จะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างร้อนมาก หรือร้อนกว่าช่วงฤดูกาลอื่นๆ ดังนั้นนักวิ่งที่แพ้แดด กลัวร้อน ก็ไม่ควรที่จะลงระยะไกลๆ หรือบางท่านแพ้แดดอย่างแรงก็ควรเลี่ยงสนามในช่วงนี้ แต่หากจะลงก็คงต้องเตรียมความพร้อมมาเพื่อรับสภาพกับสนามนั้นๆให้ได้ ไม่ว่าจะซ้อม หรือมีอุปกรณ์ช่วยป้องกันแดด ไม่ว่าจะเป็นหมวก เสื้อหรือกางเกงขายาว เพราะหากจะให้สนามวิ่งทุกสนามจัดในช่วงที่อากาศดี เย็นสบายเหมือนกันทุกสนามก็คงไม่มีอะไรที่จะมาสร้างความตื่นเต้น ความท้าทายให้กับบรรดานักวิ่งที่มีหลากหลาย ดังนั้นสนามนี้ก็เป็นอีกสนามที่น่าวิ่ง แต่นักวิ่งต้องประเมินตนเองและสภาพสนามให้ดี จากปีที่แล้วจัดวิ่งช่วงเย็นวิ่งกันยันเที่ยงคืน ปีนี้จัดวิ่งสายหน่อยวิ่งกันจนเที่ยง สนามนี้จึงเป็นสนามที่สอนอะไรๆให้นักวิ่งได้รับรู้มากขึ้น “วิ่ง” เพียงอย่างเดียวไม่พอ นอกจากการเตรียมตัวการประเมินตนเองแล้ว การประเมินสภาพและคาดการ์ณในสนามก็เป็นสิ่งสำคัญ
ส่วนเรื่องอื่นๆ อาทิ ค่าสมัครที่สูงกว่าหลายๆสนาม อันนี้เป็นเรื่องที่นักวิ่งควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เนื่องจากบางคนก็เต็มใจที่จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งประสพการ์ณ บางคนคิดว่าเอาเงินที่จะจ่ายสนามนี้ไปจ่ายสนามอื่นดีกว่าได้วิ่งอีกหลายสนาม เป็นต้น ทั้งนี้ก็แล้วแต่บุคคล

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: เนื่องจากผู้จัดอาจต้องการเน้นประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ซึ่งจะเห็นได้จากการใช้ชื่อ สถานที่ และเส้นทางการวิ่งที่มีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสวยงามที่นักวิ่งทั้งไทยรู้สึกภูมิใจและดีใจ และนักวิ่งต่างชาติก็รู้สึกตื่นเต้นกับการแสดงเหล่านั้นเช่นกัน แต่ส่วนลึกๆในใจในฐานะนักวิ่งไทยคนหนึ่ง เรารู้สึกว่าสิ่งที่เอามาโชว์นั้นมันเป็นแค่เพียงการแสดงเท่านั้นจริงๆ ราวกับว่านักแสดงถูกจับเอามาวางแล้วเค้าให้แสดงอะไรก็แสดง ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา นักวิ่งจะวิ่งก็วิ่งไป นักแสดงจะแสดงก็แสดงไป ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กันสักเท่าไหร่นัก การจัดงานวิ่งอย่างนี้ชุมชนควรมีส่วนร่วมมากกว่านี้แต่ดูไปแล้วชุมชนก็ยังมีส่วนร่วมไม่มากเท่าใดนัก

เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักวิ่ง เรื่องแรกเรื่องความปลอดภัยในชีวิต บนเส้นทางการแข่งขัน การควบคุมการจราจรถึงแม้จะวิ่งถนนซึ่งใช้กันในชุมชน ในหมู่บ้าน แต่การจราจรก็พลุกพล่านในบางจุด ซึ่งส่งผลให้นักวิ่งบางท่านได้รับอันตราย ซึ่งปีที่แล้วก็มีปัญหานี้เช่นกัน และในส่วนของทรัพย์สินที่สูญหาย ซึ่งหากจะแก้ไขตรงจุดนี้ เจ้าหน้าที่และคนในชุมชนควรมีส่วนร่วมให้ขึ้น

ส่วนเรื่องการจัดมาราธอนในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศร้อนมากจนถึงโค-ต-ร ร้อน ไม่ว่าจะปล่อยตัวเช้า สาย บ่าย เย็น การให้น้ำทุกๆ 2.5 กิโลค่อนข้างที่จะห่างเกินไปอาจจะย่นมาทุกๆ 2 กิโลน่าจะดีกว่า

การประมวลผลสำหรับนักวิ่งแนวหน้าซึ่งจะขึ้นรับรางวัลต่างๆ การใช้ชิพปัจจุบันยังมีจุดผิดพลาดและบกพร่องไปบ้างดังนั้นการใช้ป้ายบอกอันดับก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยการแจกรางวัลรวดเร็ว กระชับ ฉับไว มากยิ่งขึ้น ปัญหาสำหรับนักวิ่งแนวหน้าก็จะลดลงไป แม้นักวิ่งที่มีปัญหาจะมีไม่มากนักแต่ก็เป็นการดีสำหรับผู้จัดเองที่ทำให้นักวิ่งทุกระดับประทับใจ


อาหารสำหรับนักวิ่งมีเพียงข้าวต้ม และมาม่าเท่านั้น นักวิ่งเข้าไปวิ่งถึงสวนผลไม้ ส้มโอ ลิ้นจี่ มะปราง มะพร้าว แต่นักวิ่งไม่มีโอกาสได้ลิ้มลอง นอกจากจะต้องใช้เงินซื้อมารับประทานเอง อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะบรรยายออกมายังไงเหมือนกัน....

สุดท้ายเป็นสิ่งที่ทำให้นักวิ่งหลายคนน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าทำไมผู้จัดเอาใจนักวิ่งต่างชาติซะเหลือเกิน อันนี้นักวิ่งหลายท่านก็เข้าใจว่าทำไม สาเหตุก็คือ นักวิ่งต่างชาติมาวิ่งแบบแพคเกจทัวร์ซึ่งจ่ายค่าสมัครรวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆแพงกว่าชาวบ้านเค้า แต่อยากแนะนำผู้จัดว่าการจะ treat นักวิ่งเหล่านี้ดีกว่าคงไม่เป็นไร แต่ในสนามแข่งขันบริเวณงานนักวิ่งทุกคนน่าจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน ไม่ควรแบ่งแยก แต่หลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันแล้วท่านจะแยกนักวิ่งกลุ่มนี้ออกไปก็ไม่เป็นไรหรือหากจะมีบริการพิเศษอื่นๆก็ควรจะแยกออกไป เพื่อไม่ทำให้นักวิ่งเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้นักวิ่งเข้าใจผู้จัดผิดไปด้วย

งานนี้ฟังจากประสบการ์ณที่นักวิ่งหลายๆท่านบอกเล่ากันบนเว็บบอร์ดแห่งนี้ดูเหมือนจะมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงกันค่อนข้างเยอะพอสมควร แต่สิ่งเหล่านั้นโดยส่วนใหญ่เป็นทางด้านการจัดการซะมากกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่สนามนี้ต้องการเป็นอย่างมากที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆได้นั่นก็คือ ความร่วมมือจากชุมชน น้ำใสใจจริงจากชาวบ้าน ที่จะคิดว่างานนี้เป็นส่วนหนึ่ง เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของชุมชน

Labels: , , , ,

13.3.06

โรงพยาบาลสิชลมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 5

ชื่องาน: โรงพยาบาลสิชลมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 5
วันที่: 12 มีนาคม 2549
สถานที่: โรงพยาบาลสิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
สรุปผลการประเมิน: 82 คะแนน ดี น่าไปวิ่ง

เส้นทางการเดิน-วิ่ง:
สนามนี้มีการแข่งขัน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะฟันรัน 3.5 กม. มินิ 10.5 และ ฮาล์ฟ 21.1 กม. เส้นทางการแข่งขันเมื่อปล่อยตัวออกจากจุดสตาร์ทไปแล้วเลี้ยวซ้าย แล้ววิ่งวนอ้อมกลับเข้าสู่เส้นชัยอีกด้านนึง ทั้งสามระยะจะคล้ายกัน ในระยะมินิและฮาล์ฟเส้นทางการวิ่งเป็นถนนลาดยาง ทางเรียบผสมเนินเตี้ยๆ 2-3 เนิน และปิดท้ายก่อนเข้าเส้นชัยด้วยเนินสูงชัน บรรยากาศโดยรวมเป็นการวิ่งชมหมูบ้านในอ.สิชล ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมง และเป็นแหล่งชุมชนที่มีฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกกุ้งจำหน่าย สำหรับบรรยากาศริมหาดไม่ค่อยได้เห็นมากนักเนื่องจากเป็นแหล่งชุมชนมีบ้านเรือนตั้งเรียงรายทำให้เส้นทางระหว่างการวิ่งนักวิ่งไม่ได้สัมผัสบรรยากาศท้องทะเลมากนัก หาดในบริเวณอ.สิชล ส่วนใหญ่เป็นหาดหิน ซึ่งจะให้นักวิ่งลงไปวิ่งก็คงจะลำบาก ดังนั้นเส้นทางการวิ่งสำหรับงานนี้ก็ถือว่าเหมาะสม ไม่ยากและก็ไม่ง่ายเกินไป เป็นสนามที่สนับสนุนให้คนในชุมชนได้สนใจมาออกกำลังกายกันมากขึ้น

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
สนามนี้เป็นสนามที่มีความเหมาะสมกับนักวิ่งทุกระดับ ระยะทาง 3.5 กิโล ที่เหมาะกับเยาวชนและนักวิ่งที่เพิ่งออกมาวิ่งได้ไม่นาน หรือนักวิ่งที่ชอบวิ่งสั้น ถัดมาเป็นระยะมินิที่เหมาะกับนักวิ่งที่ผ่านสนามมาพอสมควร มีเนินให้ทดสอบและออกแรงกันอีกนิดหน่อย ส่วนระยะฮาล์ฟเป็นระยะเหมาะสำหรับนักวิ่งที่ชอบวิ่งไกลๆ ประเภทวิ่งไปเที่ยวไป ไปไกลๆทั้งทีก็ต้องวิ่งให้คุ้มก็ลงระยะฮาล์ฟ ดังนั้นสนามนี้เป็นสนามที่เหมาะกับนักวิ่งทุกระดับจริงๆ เป็นสนามที่มีความพร้อมในด้านการจัดงานเป็นอย่างมากหากใครได้มีโอกาสมาวิ่งสนามนี้รับรองไม่ผิดหวัง นอกจากนั้นการแจกรางวัลและการแบ่งรุ่นอายุการแข่งขันเรียกว่าผู้จัดก็แจกไม่อั้นเช่นกัน ดังนั้นนักวิ่งที่ลุ้นถ้วยและรางวัลสนามนี้ก็เปิดโอกาสให้ไม่น้อย ซ้อมมาดีก็มีโอกาสได้ถ้วยติดมือกลับบ้าน

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
ก่อนอื่นสำหรับสนามนี้ต้องขอติงก่อนเลยเพราะส่วนดีมีมาก จุดบกพร่องมีแค่เพียงนิดเดียวเท่านั้นคือเรื่องจุดให้น้ำที่ตั้งพลาดไปและมีบางจุดเหลือแต่น้ำแข็งให้นักวิ่งรวมถึงเรื่องถังขยะในบริเวณจุดให้น้ำซึ่งยังขาดไป แต่ข้อผิดพลาดตรงนี้ก็ไม่ใช่ข้อผิดพลาดที่ใหญ่ โดยรวมในเรื่องนี้ก็ถือว่าใช้ได้แล้วแต่ปรับปรุงอีกนิด สนามนี้คงเรียกว่าเป็นอีกสนามที่สมบูรณ์แบบทีเดียว ทีนี้ก็มาร่ายยาวกับสิ่งดีๆที่ผู้จัดสนามนี้ได้จัดให้กับนักวิ่งกันดีกว่า เริ่มจากเรื่องแรกคือ การต้อนรับที่อบอุ่นให้บริการนักวิ่งด้วยรอยยิ้มและน้ำใจ การรับสมัครที่ต้องการข้อมูลชัดเจนเพื่อคีย์เข้าคอมพิวเตอร์แต่บางทีนักวิ่งเขียนอ่านไม่ออกนักวิ่งนับร้อย ผู้รับสมัครก็คงรำคาญน่าดู คนไทยหรือเปล่าเนี้ยเขียนภาษาไทยแต่คนไทยอ่านไม่ออก แต่ก็ยิ้มหวานแล้วถามอย่างสุภาพว่าอยู่ที่ไหนคะ? ชื่ออะไรคะ? เกิดวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร ปีไหนคะ? แล้วก็ทวนให้เราฟังอีกครั้งว่าถูกหรือเปล่า... น่ารักซะไม่มี
เรื่องที่สองคือ เรื่องการแบ่งประเภทการแข่งขัน เป็นการจัดการแข่งขันที่เน้นกลุ่มเป้าหมายได้ตรงเป้าทีเดียว มีระยะฟันรัน มินิ และ ฮาล์ฟ ซึ่งระยะฟันรันเป็นระยะเริ่มต้นเพื่อเป็นการชักชวนให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมและเหมาะสำหรับเยาวชนและมีการแจกรางวัลให้ระยะนี้ ซึ่งถือว่าผู้จัดบรรลุวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
เรื่องที่สามแม้ว่าจะมีการเตรียมอาหารใส่ถุงให้นักวิ่งบางส่วนหลังจากเข้าเส้นชัยแล้ว ก็ยังมีบางส่วนที่จัดเตรียมให้โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็น โจ๊ก ข้าวต้มมัด แตงโม เตรียมพร้อมเป็นอย่างดี
เรื่องที่สี่เรื่องการลงทะเบียนที่ทันสมัย สามารถเก็บข้อมูลนักวิ่งและสามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลสำหรับการแข่งขันและนักวิ่งได้จริง หลังจากที่พบว่างานวิ่งสงขลามาราธอน 2547 งานวิ่งทางภาคใต้ได้มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาประยุกต์ใช้แต่ครั้งนั้นยังพบว่าโปรแกรมยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร มาวันนี้ 12 มีนาคม 2549 งานนี้มีการนำโปรแกรมมาประยุกต์ใช้ พบว่าการทำงานและการประมวลผลค่อนข้างสมบูรณ์มากทีเดียว เชื่อว่าหากมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น มีการนำเซ็นเซอร์เข้าประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน อนาคตอาจจะมีระบบชิพไทม์มิ่งโดยคนไทยเพื่อนักวิ่งไทยแน่นอน อันนี้ก็ขอให้กลุ่มผู้ออกแบบโปรแกรมนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป และอยากให้งานวิ่งอีกหลายๆงานที่สนใจลองติดต่อเพื่อนำมาใช้ดูนะคะจะเป็นประโยชน์มากทีเดียวในการเก็บข้อมูลนักวิ่ง
และเรื่องสุดท้าย เรื่องของเจ้าภาพและบริษัทรับจัดงาน บ่อยครั้งที่เราพบเห็นว่างานวิ่งบางงานผิดพลาดขึ้นมาก็ว่าเจ้าภาพไม่ทำตามคำแนะนำบริษัทผู้จัดบ้าง หรือเหตุผลนานานัปการ แต่งานนี้ก็ทำให้เห็นว่าแม้ว่าผู้จัดบางรายจะมีข้อด้อยในบางเรื่องแต่ก็จะมีข้อดีในเรื่องอื่นๆเช่นกัน ดังนั้นหากเจ้าภาพรู้ว่าตัวเองขาดจุดไหน ก็หาผู้จัดที่สามารถเติมเต็มให้กับเจ้าภาพได้งานก็จะออกมาดีได้เช่นกัน...
และท้ายนี้ขอให้ทีมงานรักษาคุณภาพงานวิ่งดีๆอย่างนี้และพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นไป และฝากผู้จัดอีกหลายๆรายที่สนใจในเรื่องระบบการรับสมัครที่มีประสิทธิภาพติดต่อทีมงานการจัดงานครั้งนี้ดูนะคะ สิ่งดีๆ มีคุณค่า ที่จะสามารถพัฒนาวงการวิ่งบ้านเรา โดยคนไทยเพื่อคนไทย....

Labels: , ,

วิทยุออนไลน์ 90.0 Sport Radio

99 FM เมืองไทยแข็งแรง