ขอถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

25.9.05

สะพานบรมราชชนนี-สะพานพระราม 8 ซูเปอร์มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน

ชื่องาน: สะพานบรมราชชนนี-สะพานพระราม 8 ซูเปอร์มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน (25 กันยายน 2548)
สถานที่: ณ สะพานพระราม 8 กรุงเทพมหานคร
สรุปผลการประเมิน: 71 คะแนน พอใช้ได้

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการวิ่ง เริ่มต้นด้วยการวิ่งไปกลับบนสะพานพระราม 8 ก่อนเลย จากนั้นก็ต่อด้วยการวิ่งไปกลับ บนสะพานพระบรมราชชนนี แล้วกลับสู่เส้นชัยบริเวณใต้สะพานพระราม 8 ผั่งธนบุรีอีกครั้ง (เส้นทางนี้เป็นเส้นทางการวิ่งสำหรับซูเปอร์ฮาล์ฟ 34K) ตลอดเส้นทางการวิ่ง การจราจรถูกปิดสนิท เจ้าหน้าตำรวจคอยให้การดูแลอย่างดีเยี่ยม ชนิดที่ว่าไม่เคยเจองานไหนได้มาขนาดนี้ เส้นทางการวิ่ง 34K เป็นเส้นทางเดียวกันกับกรุงเทพมาราธอน แต่ไม่ต้องไปวิ่งต่อบนถนนราชดำเนินให้เสียว...สันหลัง... บนเส้นทางทั้งสองสะพานที่ใช้เป็นเส้นทางการวิ่งเป็นทางเรียบล้วนๆ ดังนั้นการวิ่งจึงไม่ยากนัก ส่วนบรรยากาศก็ใช้ได้ มีเพียงบางจุดเท่านั้นที่ด้านล่างสะพานที่มีการจราจรคับคั่งก็จะได้กลิ่นควันรถบ้างแต่ไม่มาก ในช่วงวิ่งย้อนกลับ แดดจะออกพอดี นักวิ่งที่วิ่งกันช้าๆ ไม่ใช่แนวหน้าก็ได้วิ่งอาบแดดกันหอมปากหอมคอทีเดียว...

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามนี้ถือว่าเป็นสนามที่เหมาะสำหรับนักวิ่งทุกระดับ เส้นทาง 34K ก็เหมาะเป็นเส้นทางการซ้อมยาวๆ ได้ดีทีเดียว แต่สนามนี้คงไม่ง่ายนักที่จะมีการจัดวิ่งกันบ่อยๆ เพราะเป็นเส้นทางสายหลักอีกเส้นทางหนึ่ง แต่หากนักวิ่งท่านใดที่ไม่ใช่แนวหน้ามีโอกาสได้ไปวิ่งบนเส้นทางนี้ ก็แนะนำให้หาหมวกติดมือไปด้วยสักใบ เพราะในช่วงย้อนกลับส่วนใหญ่ก็จะวิ่งสวนกลับตอนพระอาทิตย์กำลังขึ้น นอกจากนั้นในการวิ่งระยะยาวๆบนสะพานทั้งสองสะพานนี้หากท่านสามารถพกน้ำติดตัวไปด้วยได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี และนอกจากนั้นโดยเฉพาะนักวิ่งหญิง โปรดคำนึงด้วยว่าการวิ่งยาวบนสองสะพานนี้ท่านไม่สามารถหาห้องน้ำที่ไหนได้เลย ท่านไม่สามารถทำธุรหนักได้เลยแม้แต่น้อย ดังนั้นก่อนการวิ่งควรเตรียมตัวให้พร้อม เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนขึ้นไปวิ่ง ท้องไส้ไม่ดีควรหลีกเลี่ยงเส้นทางนี้... ส่วนบรรยากาศการวิ่งโดยทั่วไป นักวิ่งก็จะเป็นตึกสูงโดยรอบตลอดเส้นทางการวิ่ง บางช่วงที่ถนนด้านล่างมีการจราจรคับคั่งก็จะได้กลิ่นควันขึ้นมาบ้างเล็กๆน้อยๆ...

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: ก่อนอื่นก็ต้องขอบคุณผู้จัดเป็นอย่างสูงที่ต้องติดต่อประสานงานเพื่อให้นักวิ่งได้มีโอกาสขึ้นไปวิ่งบนสะพานหลัก (สะพานบรมราชชนนีและสะพานพระราม 8) ทั้งสองสะพาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว นอกจากนั้นต้องขอขอบพระคุณตำรวจทุกท่าน ทุกนาย ทุกสน.ที่คอยดูแลนักวิ่งและปิดการจราจรได้สนิท 100 เปอร์เซนต์ และขอบคุณน้องๆ ชุดวอร์มสีม่วง ที่มาให้บริการรับสมัคร รับฝากของ ให้บริการน้ำกับนักวิ่งและ ให้บริการในส่วนอื่นๆ.... และสิ่งที่อยากฝากผู้จัดไว้สำหรับงานนี้ การจัดวิ่ง เส้นทางการวิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่งานวิ่งจะประสพความสำเร็จได้ดีก็ต้องประกอบไปด้วยหลายสิ่ง หลายปัจจัย และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อตัวนักวิ่งโดยตรง การปฐมพยาบาลขั้นต้น รถพยาบาลที่เตรียมพร้อมไว้เสมอ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน... นักวิ่งไม่ทุกคนที่สามารถประเมินตัวเองได้เสมอ... และสิ่งสุดท้ายซึ่งอาจจะดูไม่สำคัญเท่าไหร่นักแต่สำหรับนักวิ่งระยะยาว วิ่งมาแล้ว 30 กว่าโล หรือหากเป็นมาราธอนก็ 40 โล ใช้เวลาและพลังกันถึง 3-4 ชม.เป็นอย่างน้อย ดังนั้นเข้าเส้นชัยอาหารสำหรับการฟี้นตัวควรจะมีให้เพียงพอสำหรับนักวิ่งหลังๆบ้าง... นักวิ่งจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่อาศัยใจสู้ อยากลอง อยากทดสอบตัวเองว่าจะวิ่งยาวๆได้สักแค่ไหน ทดสอบตัวเองเพื่อเตรียมตัวลงมาราธอน ดังนั้นนักวิ่งส่วนนี้บางครั้งเข้าเส้นชัยมาหลังๆ แล้วมาเจอสภาพต้องไปตายเอาดาบหน้า... เค้าก็หมดกำลังใจ... ช่วยกันรักษากำลังใจและน้ำใจกันเอาไว้...

Labels: , ,

18.9.05

ทศวรรษโรคกระดูกและข้อ เดิน-วิ่งมินิมาราธอน ครั้งที่

ชื่องาน: ทศวรรษโรคกระดูกและข้อ เดิน-วิ่งมินิมาราธอน ครั้งที่ 4 (18 กันยายน 2548)
สถานที่: กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพ
สรุปผลการประเมิน: 75 คะแนน เกือบดี

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการวิ่งภายในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นทางเรียบล้วนๆ ไม่มีเนิน วิ่งไป-กลับ ภายในกระทรวงสาธารณสุข เป็นเส้นทางที่สะดวกสำหรับผู้จัดซึ่งไม่ต้องกังวลกับการปิดถนน มีต้นไม้คอยให้ร่มเงาได้บ้างตามเส้นทางการวิ่ง เนื่องจากในบริเวณกระทรวงสาธารณสุขไม่กว้างมากนัก ก็จำเป็นที่จะต้องวิ่งวกไปวนมากันบ้าง นอกจากนั้นงานวิ่งหลายๆงานก็ใช้เส้นทางในกระทรวงทำให้นักวิ่งที่วิ่งบ่อยเบื่อเส้นทาง

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: หากเป็นนักวิ่งมือใหม่หัดขับสนามนี้ก็ถือว่าใช้ได้ดี เหมาะกับการวิ่งระยะสั้น นอกจากนั้นนักวิ่งที่ออกวิ่งไม่ถี่ และไม่สะดวกในการเดินทางออกต่างจังหวัดสนามนี้ก็ถือว่าเป็นสนามที่น่าสนใจ

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับสนามนี้ จากวัตถุประสงค์การจัดงาน ทั้ง 4 ข้อ
1. รณรงค์การป้องกันโรคกระดูกและข้อ 2. เสริมสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาขนและผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ 3. ให้ความรู้ทางโรคกระดูกและข้อสำหรับประชาชน 4. ส่งเสริมการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันหรือลดปัญหาโรคกระดูกและข้อ
จะเห็นว่าการจัดงานวิ่งในครั้งนี้ยังไม่มีจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของงานนี้เพื่อดึงความสนใจให้นักวิ่งมาร่วมงานมากขึ้น
งบประมาณเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญกับการจัดงานในแต่ละครั้ง แต่ไม่อยากให้มองประเด็นนี้เป็นหลัก หากผู้จัดปรับรูปแบบในการจัดอีกสักเล็กน้อยเน้นไปในแนวทางการวิ่งเพื่อสุขภาพ เพื่อการกุศล อาทิ งานวิ่ง กฟผ. ไม่จำเป็นต้องมีถ้วยรางวัลสวยๆแจกเป็นการลดค่าใช้จ่ายตรงจุดนั้นได้อีกทางหนึ่ง และในปัจจุบันก็พบว่านักวิ่งไม่น้อยเลยทีเดียวที่วิ่งกันเพื่อสุขภาพจริงๆ แต่หากจะให้นักวิ่งกลุ่มนี้มาร่วมงาน ผู้จัดก็ต้องค้นหา หรือสร้างเอกลักษณ์ของงานขึ้นมาให้ได้... สนามนี้ก็จะเป็นสนามวิ่งเพื่อสุขภาพและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น การจัดนิทรรศการเล็กๆในงานและให้มีการตอบปัญหาชิงรางวัล จะเป็นการกระตุ้นนักวิ่งให้เข้ามาร่วมกิจกรรมได้มากยิ้งขึ้น และการจัดกิจกรรมอื่นที่ต่อเนื่องและหวังให้มีนักวิ่งเข้าไปมีส่วนร่วมควรจัดบริเวณหลังเข้าเส้นชัยไม่นานนัก และบริเวณใกล้เคียงกันนั้นเลย

Labels: , ,

4.9.05

กฟผ.มินิมาราธอน

ชื่องาน: กฟผ.มินิมาราธอน (4 กันยายน 2548)
สถานที่: กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
สรุปผลการประเมิน: 80 คะแนน จัดได้ดี

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการวิ่งอยู่ในบริเวณภายในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นทางเรียบล้วนๆ ไม่มีเนิน วิ่งไป-กลับ เป็นเส้นทางวิ่งที่สะดวกสำหรับผู้จัดซึ่งไม่ต้องกังวลกับการปิดถนน หรือควบคุมจราจร และมีต้นไม้คอยให้ร่มเงาได้บ้างตามเส้นทางการวิ่ง อากาศไม่ร้อนแดดไม่มีนักวิ่งก็วิ่งกันสบายๆเพื่อสุขภาพและการกุศล เส้นทางการวิ่งภายในกระทรวงสาธารณสุข เป็นเส้นทางที่เหมาะกับการวิ่งระยะสั้นๆ อย่างมินิมาราธอน แต่หากจัดวิ่งระยะอื่นๆมากกว่า ก็คงต้องวิ่งวนกันหลายรอบทีเดียว

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: หากคุณไม่ใช่นักวิ่งแนวหน้าที่หวังถ้วยรางวัลสวยหรู หรือเงินรางวัลติดมือกลับบ้านล่ะก้อ งานการกุศลที่จัดได้ดีอย่างนี้เป็นงานที่น่าไปวิ่งและให้การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนวิ่งกันด้วยรอยยิ้ม และผู้จัดให้ความสำคัญกับนักวิ่งทุกคน ผู้จัดจัดด้วยใจ นักวิ่งก็วิ่งด้วยใจ ผลที่ออกมาทุกคนก็ประทับใจ

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับสนามนี้ขึ้นชื่อว่า กฟผ. ก็การันตีคุณภาพการจัดงานได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ยังคงรักษาคุณภาพของงานวิ่งได้เป็นอย่างดี แต่มีสองสิ่งที่อยากฝากไว้ให้พิจารณา สิ่งแรกคือการสร้างหรือปลูกจิตสำนึกให้นักวิ่งที่รักวิ่งได้รักษ์สิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัว ดังนั้นผู้จัดเองก็ต้องตระหนักถึงสิ่งนี้เช่นกัน และสิ่งที่สองคือ อยากให้งานวิ่ง กฟผ. ซึ่งเป็นงานวิ่งการกุศลจริงๆ ที่นักวิ่งส่วนใหญ่ให้ความสนับสนุนเสมอมา หากเป็นไปได้อยากให้ผู้จัดผลักดันงานวิ่งนี้ให้เป็นงานวิ่งสังสรรค์ของนักวิ่งไทยทุกชมรม อ่านดูแล้วคงยากพอสมควรนะคะสำหรับข้อนี้ แต่หากไม่มีการเริ่มต้นคิดและทำขึ้นมามันก็คงไม่เกิดเป็นแน่ ที่เสนอแนะข้อนี้ขึ้นมาเพราะคิดว่าผู้จัดมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปถึงระดับนั้นได้

Labels: , ,

วิทยุออนไลน์ 90.0 Sport Radio

99 FM เมืองไทยแข็งแรง